เปลว สีเงิน
พี่ “หมอเดชา” ของผม….
“นาวาโทเดชา สุขารมณ์” ท่านจากไปโดยสงบเสียแล้ว
เห็นข่าวใจหายแว๊บ!
เพราะท่านคือ “พี่หมอที่เคาพ” ของผมมายาวนานไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปี ทั้งข้าว น้ำ รอยยิ้ม และรักที่มีให้ ฝังใจจำตลอด
พี่หมอชอบเล่าเหตุการณ์นอกประวัติศาสตร์บันทึกให้ผมระทึกเสมอ
เพราะตอนเป็น “หมอหนุ่ม” พี่หมอเดชาเป็น “หมอประจำตัว” นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “จอมพลถนอม กิตติขจร”
นายกฯ ถนอมคุย ๒ ต่อ ๒ กับใคร
พี่หมอเดชาที่จอมพลถนอมบอกให้หลบไปอยู่ในห้องข้างหลัง ก็จะพลอยได้ยินด้วยตลอด
ต่อมา วางมือจากกิจการโรงพยาบาล ลงเล่นการเมือง เป็นสส.กาญจนบุรี เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย สมัยรัฐบาลชวน และเป็นรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข
๒๑ กันยา.เป็นวันเกิดพี่หมอ
จะโทรมาชวนผมไปทำบุญ ล่าสุดที่โรงพยาบาลสงฆ์แล้วไปกินข้าวกัน ถึงไม่ประจำทุกปี แต่ก็บ่อยครั้ง
แต่ ๒๑ กันยา.ปีนี้ ไม่มีสายเรียกจากพี่หมอ
มีแต่ข่าว…….
“พี่หมอ” ดุ่มเดินเดียวดายไปตามรอยบุญที่ทำไว้ สู่ ณ ที่ซึ่งไม่มีใครได้ตามพบอีกต่อไป ด้วยเส้นใต้ชีวิตที่ขีดไว้
๘๖ ปี “บริสุทธิ์-บริบูรณ์”
ในภาวะมนุษย์วิสัย “เกิดกับตาย” ตัวเดียวกัน
“การเกิด” มาจากการตายในที่หนึ่ง มาสู่อีกที่หนึ่ง ในสภาพเกิด “การตาย” ก็เช่นกัน จากการดับในที่หนึ่ง สู่อีกที่หนึ่ง ในสภาพเกิด
สรุปแล้ว ความหมายของ “น้ำตา” เป็นได้ทั้งสุขและเศร้า เราจึงเห็นทั้งตอนหัวเราะและตอนร้องไห้ น้ำตาไหลเหมือนๆกัน
ผมก็ใกล้จะได้ทั้งหัวเราะและร้องไห้อยู่แล้วเหมือนกัน!
เอ้อ…นี่รู้กันหรือยัง ว่า…..
“พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕” ด้วยวงเงิน ๓,๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรียบร้อยแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๕
พูดเรื่องเงิน ก็ต้องพูดต่อเรื่อง รัฐบาลขยายเพดานเงินกู้หนี้สาธารณะของประเทศ จากร้อยละ ๖๐ เป็นร้อยละ ๗๐
พอบอกว่าขยายเพดานเงินกู้…
พวกนิยมด่า ไม่นิยมเหตุผล ก็ด่าไฟแลบ รัฐบาลนี้ดีแต่กู้บ้าง, ประยุทธ์นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาบ้าง, ๗ ปีมีแต่กู้ให้เป็นภาระคนรุ่นต่อไปบ้าง และฯลฯ
แต่คนรู้กลไกเศรษฐกิจและมีเหตุผล แม้บางคนในฝ่ายค้านเอง ที่เข้าใจปัญหา นอกจากไม่ค้านแล้ว ยังสนุบสนุนและเร่งให้ทำด้วยซ้ำ
กระทั่ง “แบงก์ชาติ” เอง ยังต้องออกมาส่งสัญญาน ว่าด้วยปัญหาโควิด นอกจากทำเครื่องยนต์เศรษกิจพังทุกตัวแล้ว
“ประชาชน” ยิ่งพังกับพัง!
รัฐบาลควรต้องกู้อย่างน้อยอีกซัก ๑ ล้านล้านบาท มาพยุงรายได้ชาวบ้านด่วน
สรุปแล้ว คนที่รู้และเข้าใจปัญหา “ไม่มีใครค้าน”
มีแต่บอกให้รัฐบาลรีบกู้ เอาเงินมากระตุ้น-กระชากระบบเศรษฐกิจและชีวิตชาวบ้านเร็วๆ แทบทั้งนั้น
อย่าไปบ้ากับตัวเลขเพดานกู้ “ไม่เกินร้อยละ ๖๐ ของจีดีพี” อะไรนั่นเลย
คำว่า “เพดานเงินกู้” มันเหมือนเส้น “ขอบน้ำ-ขอบฟ้า” ทุกคนเห็นว่ามีอยู่ แต่ในความเป็นจริง มันไม่มีหรอก!
ก็ด้วย “กติกาโลก” กำหนดให้มันมีเป็นจุดบรรจบทางสมมติไว้บ้างเท่านั้น
เพื่ออะไร เพื่อป้องกันรัฐบาลประเภท “กู้มาโกงแบ่งกัน” นั่นแหละ!
แต่เมื่อจำเป็น เพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อความเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจ จะกู้..ก็ต้องกู้ ยกเว้นผู้บริหารที่ซื่อบื้อ ที่ไม่รู้จักปริวรรต ในสถานการณ์อันควรเท่านั้น
ทุกวันนี้ ไม่มีประเทศไหนในโลก ที่เอาการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ไปแขวนคอไว้กับคำว่า “เพดานเงินกู้”
อย่าว่าเกินร้อยละ ๗๐ เลย
เกินร้อยละร้อยด้วยซ้ำ ประเทศที่ยิ่งก้าวหน้า อย่างสหรัฐ-ยุโรป-ญี่ปุ่น ด้วยแล้ว ยิ่งกู้ ยิ่งก้าวหน้า
เพราะเขาไม่ได้กูมาโกงแบ่งกัน แต่เขากู้มาขยายฐาน ทางพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม หรือกู้มาแก้บางปัญหาเฉพาะหน้าที่เห็นว่า มีทางได้คืน
ไทยเรา จากโควิด ถึงวันนี้ รายได้ทางเศรษฐกิจหายไปไม่หนี ๓ ล้านล้าน ทั้งภาคธุรกิจการค้าและภาคครัวเรือน
เงินที่รัฐบาลใส่ไปแล้วในระบบรูปแบบต่างๆ นั่นแค่เยียวยาเฉพาะหน้าให้ชีวิตรอดไปวันๆ
แต่จะให้ฟื้น ให้ยืนได้ วิ่งได้ โตได้ แตกกิ่งก้าน แผ่ขยาย ออกดอก-ออกผลได้
มันไม่ได้และไม่มีทางเลย!
ก็ต้องใช้มาตรการ “ทางการคลัง” กระตุก-กระชากเครื่องยนต์ ทั้งเยียวยา ทั้งกระตุ้น ทั้งฟื้นฟู ทั้งปรับสภาพ เอากันให้ครบสูตร ทุกอย่างที่ทุ่มลงไปจึงจะไม่เสียเปล่า
ไม่ต้องกลัวหรอก ทั้งสภาพคล่อง ทั้งฐานเศรษฐกิจประเทศของไทยเรานั่นน่ะ
ไม่ได้โม้นะ ต่อให้ยุโรป-สหรัฐฯ ด้วย ของไทยเราแข็งปั๋ง “กินขาด”!
ฉะนั้น รัฐบาลอย่าโอ้เอ้ รีบจัดทำแล้วรีบกู้มาเลย ที่ว่าอีก ๑ ล้านล้านนั่นน่ะ
ผมว่า ไม่กู้ตอนนี้ นั่นแหละ…โง่
เพราะตอนนี้ ดอกแค่ร้อยละบาทกว่า ไม่กู้..จะรอไปกู้ตอนขาขึ้น ร้อยละ ๓-๕ บาท ในอีก ๒-๓ ปีข้างหน้างั้นหรือ?
กู้ตอนนี้แหละ “โคตรกำไร”
ยิ่ง “กู้ในประเทศ” ด้วยแล้ว เหมือนเรือล่มในหนอง เอามาจัดสรรปันส่วนให้ภาคธุรกิจ-เศรษฐกิจ, ภาคประชาชน โดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชน พ่อค้า-แม่ขายรายเล็ก-รายน้อย
เงินล้านล้านที่ปล่อยไป….
ก็เหมือนหว่านกล้า-รดน้ำ-ใส่ปุ๋ย พืชไร่ ระบบก็จะไปฉุดเครื่องยนต์ภาคการผลิต การค้า-การขาย การกิน การบริโภคต่อไปถึงภาคคอุตสาหกรรม
ลงท้าย เงินล้านล้าน มันก็ไหลกลับเข้าคลังพร้อมดอกผล ด้วยระบบภาษีและการขยายฐานการเก็บภาษีที่เป็นเงาตามไปกับเศรษฐกิจที่ฟื้นแล้วแตกโตขยาย ใน ๑๐ ปีข้างหน้า
ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออก นึกถึงระบบ “เจ้ามือบ่อน” จะเข้าใจ
เจ้ามือกินลูกบ่อนหมดตูดแล้ว จะเล่นต่อ ลูกบ่อนก็ไม่มีเงินแทง เจ้ามือก็ต้องฟื้นฟูสภาพคล่องลูกบ่อน
ปล่อยให้กู้เพื่อเล่นต่อ สมมติคนละ ๑๐๐ บาท ธุรกิจบ่อนก็เดินต่อไปได้ เรียกว่า “กลไกลระบบ” หมุนเวียน “ปล่อยกู้-คืนกลับ, คืนกลับ-ปล่อยกู้” คู่กันอย่างนี้
๑ ล้านล้าน พอหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจ
แต่ขอให้ทุกคนเข้าใจว่า การขยายเพดานกู้ครั้งนี้ สมควร-จำเป็น และมีเหตุผลต้องทำอย่างยิ่ง
มันเป็นการลงทุน “กับประชาชน-เพื่อประชาชน-โดยรัฐบาลของประชาชน” บนฐานอนาคตประเทศที่มั่นคงและยั่งยืน