วันที่ 20 ก.ย.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขอยืนยันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนั้น
การมีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เข้ามาทำงานหรือพักอาศัยทดแทนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไปของไทย บรรเทาผลกระทบจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวลดลง อาจไม่สามารถสร้างรายได้ ขณะเดียวกัน ยังจูงใจให้ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้มีทักษะสูงด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
เข้ามาเสริมศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ด้วยเกิดการเชื่อมต่อเทคโนโลยี ถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ ยกระดับทักษะและสมรรถภาพ และเพิ่มโอกาสการจ้างงานให้กับแรงงานภายในประเทศ ทั้งนี้ มีการกำหนด กลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มที่ชัดเจน ได้แก่
(1) กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (2) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ (4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งแต่ละกลุ่มยังมีเงื่อนไขที่ต้องเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนและการพัฒนาประเทศไทย
อาทิ ลงทุนขั้นต่ำในพันธบัตรรัฐบาลไทยตั้งแต่ 250,000-500,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีหลักฐานการลงทุนในประเทศไทย มีรายได้ขั้นต่ำ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในส่วน 2 แนวทางในการดำเนินมาตรการฯ ทั้งการกำหนดให้มีวีซ่าประเภทพิเศษ (Long-Term Visa) และการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องนั้น มุ่งขจัดอุปสรรคที่เป็นปัญหาของนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ยังถูกกำหนดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทุก ๆ 5 ปี
โดยสามารถยกเลิกหรือปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเหมาะสมกับการส่งเสริมการลงทุนจากทั่วโลกได้ ในส่วนการเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย ยังคงยึดหลักการตามมาตรการที่มีอยู่เดิม ไม่ได้เป็นไปตามที่บางกลุ่มพยายามบิดเบือนข้อมูลมาโจมตีรัฐบาล
โดยคาดการณ์ว่า ภายใน 5 ปี หากเพิ่มกลุ่มเศรษฐกิจสูง/ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เข้ามาทำงานหรืออาศัยในไทยได้ 1 ล้านคน จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภายในประเทศได้ 1 ล้านล้านบาท จากการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท รัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท จากการเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเกี่ยวกับการลงทุน
“จึงอยากวิงวอนทุกฝ่ายเปิดใจให้กว้าง ศึกษามาตรการอย่างลึกซึ้ง พิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต ยืนยันว่า การดำเนินการทุกมาตรการของรัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพิ่มความสามารถในแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้ไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศอีกต่อไปจะเป็นการพลิกโฉมประเทศ” นายธนกร กล่าว