เปลว สีเงิน
นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปรับปรามการทุจริตรระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ ๑๒
เชิญ “นางเมทินี ชโลธร” ประธานศาลฎีกา
ไปบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทของกระบวนการยุติธรรมกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศไทย” ในวงสัมมนา ที่ปปช.สนามบินน้ำ เมื่อวาน (๑๗ กย.๖๔)
๒ ประเด็นสำคัญ ในคำบรรยาย………
สะท้อนปัญหา ๒ ด้าน ที่บรรจบเป็น “ปัญหาร่วม” รวมเป็นปัญหาเดียว คือ “ปัญหาสังคม” ขณะนี้ ได้ดีและได้ตรง
ด้าน “คนทำผิด” ไม่กลัวกฎหมาย
และด้านที่ไม่กลัว “กระบวนการยุติธรรม” นั่นแหละ เป็นเหตุ!
“………เคยคุยกับผู้ต้องขังหลายรายที่กระทำผิดไป ทั้งที่เขารู้ว่าการกระทำของเขาถ้าถูกจับกุมดำเนินคดีอาจถูกจำคุกหรือหนักกว่านั้น
แต่คนกลุ่มนี้ ยังเลือกกระทำทุจริตประพฤติมิชอบ เมื่อสอบถามได้รับคำตอบว่า ขณะที่เขาทำ ไม่คิดว่าจะโดนจับ
หรือพูดง่ายๆ ขณะตัดสินใจกระทำผิด เขาคิดว่ามีโอกาสรอด จากการที่เห็นหลายๆ คน หลายๆ กลุ่มที่ก็ยังสามารถรอด ลอยหน้าในสังคมได้
เป็นสิ่งกระบวนการยุติธรรมต้องกลับมามองตัวเองว่า
“ในฐานะที่เราเป็นปลายทางของการแก้ไขปัญหาการกระทำความผิด เมื่อคนคิดว่า เขาทำความผิดแล้วจะรอด สะท้อนให้เห็นว่า…
“กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาแล้ว”
กระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถทำให้เขาเชื่อมั่นหรือทำให้เขาเกรงกลัวว่า เมื่อไหร่ที่เขาขยับไปทำความผิด เขาจะต้องถูกจับกุมไปดำเนินคดี เมื่อคนคิดว่าเขาคุ้มค่าที่จะเสี่ยง
เราเคยได้ยินกันว่า….
คนทำชั่ว จะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้น เป็นเรื่องที่ดี จนกว่าความชั่วนั้นจะให้ผล
“กระบวนการยุติธรรมจึงต้องสงเคราะห์ให้เขาได้เห็นผลเร็วๆ”
อีกตอน ที่สะท้อน ว่า….
ที่เรียกร้อง “ปฏิรูปตำรวจ..ปฏิรูประบบข้าราชการ” นั้น ไม่ได้หมายความว่า “กระบวนการยุติธรรม” อยู่นอกเหนือคำเรียกร้องนั้น
ประธานศาลฎีกาสะท้อนมุมนั้นชัด
“……..ดิฉันคิดว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกหน่วย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน ป.ป.ช. ป.ป.ท. อัยการ ศาล รวมไปถึงหน่วยงานที่รองรับคนผิดอย่างกรมราชทัณฑ์นั้น
จะต้องปรับบทบาทของตนเองในการทำหน้าที่ โดยเน้นให้เห็นความสำคัญ ๕ ประการ ได้แก่
ความถูกต้อง,เป็นธรรม,แม่นยำ,รวดเร็ว และโปร่งใส่ -ตรวจสอบได้”
เรื่อง “ความรวดเร็ว” ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม”
แม้ศาลและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกส่วนจะพยายามกำหนดมาตรฐานระยะเวลาเพื่อให้มีการพิจารณาคดีที่มีความผิดทางอาญาให้เสร็จในเวลารวดเร็ว
แต่ด้วยปริมาณ หรือเหตุจำเป็น รวมไปถึงสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ ก็ทำให้กระบวนในการพิจารณา พิพากษาคดีอาจมีความล่าช้าไปบ้าง
แต่เราจำเป็นต้องเน้นย้ำให้ความสำคัญกับคดีทุจริตเป็นเรื่องแรกๆ เรื่องต้นๆ
เพราะการกระทำผิด ที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน สมมุติว่า ๔-๕ ปี ที่จะลงโทษได้ จนกระทั่ง ถึงในชั้นคำพิพากษาถึงที่สุด ทำให้คนไม่เกรงกลัวแล้ว เพราะลืมเรื่องราวนั้นไปแล้ว
ในขณะที่เกิดเรื่องใหม่ๆ เป็นเรื่องอยู่บนหน้าสื่อทุกฉบับ ทุกช่อง เป็นเรื่องที่ดูร้ายแรง
แต่กว่าจะที่จะผ่านเข้าสู่กระบวนการศาลพิพากษาลงโทษ ใช้เวลานานจนคนลืมเรื่องราว ลืมความร้ายแรงและรุนแรง
คนจึงขาดความยับยั้งชั่งใจที่จะเกรงกลัวความผิดที่จะได้รับ
ดังนั้น “ความรวดเร็ว” ฉับพลันในสถานการณ์ หรือในคดีบางประเภท มีความจำเป็น
และจะส่งผลทำให้แก้ไขปัญหาที่จะเกิดการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนั้นได้ด้วย”
ครับ….
ท่านประธานศาลฎีกาพูด เหมือนเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจชาวบ้าน แล้วถอดหัวใจออกมาพูดแทน
ทุกวันนี้ “ฆาตกรต่อเนื่อง” ที่ลอยนวล คือ
“กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า”!
ฆ่าทั้งความยุติธรรม ฆ่าทั้งมนุษย์ ฆ่าทั้งสังคมชาติ
คดีสำคัญๆ ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่ดองเป็น ๕ ปี ๑๐ ปี กว่าเข้าสู่กระบวนการศาล และมีการตัดสินในเวลาอันควร
จะเป็นตัวอย่างในทางให้คนที่คิดจะทำอย่างนั้น “ยับยั้ง-ชั่งใจ” ได้มากทีเดียว
แต่ที่เป็นทุกวันนี้ บางคดี คนโกงเสวยสุขสมบัติโกงจนตายไปแล้วก็ยังไม่ตัดสินก็มี จึงเป็นอย่างที่ท่านประธานศาลฎีกาพูด
“….การกระทำผิด ที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน สมมุติว่า ๔-๕ ปี ที่จะลงโทษได้ จนกระทั่ง ถึงในชั้นคำพิพากษาถึงที่สุด ทำให้คนไม่เกรงกลัวแล้ว เพราะลืมเรื่องราวนั้นไปแล้ว”
อย่าถามถึงเวลาปฏิรูประบบยุติธรรมหรือยัง เพราะเลยเวลามานานแล้วด้วยซ้ำ
กระบวนการยุติธรรมต้อง “สนองตอบ” กฎหมาย
กฎหมายต้อง “สนองตอบ” ประชาชน
ประชาชนต้อง “สนองตอบ” ความเป็นแก่นของสังคมชาติบ้านเมือง
“สนองตอบ” ที่ว่านี้ “สนองตอบอะไร?”
“สนองตอบ”ตามภาษิตที่ว่า….
“ยุติธรรมที่ล้าช้า คือความอยุติธรรม justice delayed is justice denied” นั่นแหละ!
ทุกวันนี้ ชาวบ้านเพ่งเล็งกระบวนการยุติธรรมกันมากวิพากษ์/วิจารณ์ เชิงนินทาในที่ลับว่า
กฎหมายแทนที่จะ “พิทักษ์คนดี-ควบคุมคนเลว” กลายเป็น “ควบคุมคนดี”
เปิด “ช่องลอด-ช่องหนี-ช่องถ่วงคดี” ให้กับคนเลว!
จนเกิดคำพูดขึ้นว่า….
เป็นคนดี แสนลำบาก ชีวิตอยู่ยาก ไม่มีที่ให้ยืนในสังคม
เป็นคนร้าย แสนสบาย ครองถนน-ครองเมือง แค่เปิดบัญชี เงินก็ไหลมา-เทมา เสรีภาพล้นเหลือ
จะ “ล่มประเทศ-ล้มสถาบัน” ก็สะดวกดาย ……
ในเมื่อ “กฎหมายอยู่ที่คนใช้” พอใจจะอ้าง-ก็อ้างได้ “หลักฐานยังสาวไปไม่ถึง” ก็จบ!
ทุกวันนี้ ไม่ใช่แรพเพลง LALISA ที่ชาวบ้านร้องกันขรม หากแต่เป็นแรพ “จับแล้วปล่อย..ปล่อยแล้วจับ” ตะหาก
การจับผู้ต้องหา “ไม่ยาก”
หลักฐานนำสู่การจับ นั่นตะหากที่ “ยาก” ยิ่งยุคเสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ ครองเมืองด้วยแล้ว
ไอ้ตัว “สิทธิมนุษยชน” สายพันธุ์อเมริกัน-ยุโรปนี่แหละ ร้ายกว่าไวรัสทุกสายพันธุ์ที่ระบาดโลก
ตำรวจ “ต้นทางยุติธรรม” จึงเป็นหนังหน้าไฟ เป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายทางใช้กฎหมายที่ชาวบ้าน “รักระคนแค้น”
เรื่องล่มชาติ-ล้มสถาบัน ด้วยปฏิบัติการจลาจลเมืองของขบวนการสามนิ้ว มีแต่คนด่าตำรวจ …ทำไมไม่จับ
พอจับ สิทธิมนุษยชนโลก ก็ด่าตำรวจ…ทำร้ายเด็ก คุกคามสิทธิเสรีภาพนักศึกษา!
ตำรวจกลายเป็นต้นกล้วย เซซ้าย ชาวบ้านเตะ เซขวา เสรีภาพสามนิ้วจักรวรรดิอำนาจตะวันตกเตะ
ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับตำรวจเขาบ้าง นี่..ดูตัวอย่างเมื่อวาน ตำรวจนำหมายศาลไปค้นบ้านแกนนำนักศึกษามธ. ที่คลองหลวง ปทุมธานี
รุ้ง-ปนัสยา โพสต์ “นักศึกษาถูกคุกคาม” ทันที
“บุกบ้านพร้อมหมายค้นจะยึดคอมพ์ยึดโทรศัพท์ แต่พวกหนูยังเรียนออนไลน์กันอยู่ทุกคน ปลายเดือนมิดเทอม ตำรวจสนใจบ้างมั้ยคะ ว่ามันจะเดือดร้อนนักศึกษาอย่างพวกหนูขนาดไหน
นัทเพิ่งได้ออกมา เพนกวินยังอยู่ในเรือนจำ แล้วยังจะมาค้นบ้านอีก จะคุกคามพวกเรากันไปถึงไหนกัน
พวกเราก็แค่นักศึกษาที่ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า มันก็เท่านั้น แต่พวกคุณกลั่นแกล้งเราสารพัด จับเข้าคุกไม่รู้กี่รอบ แจ้งข้อกล่าวหาสารพัด
อยากจะให้ประเทศเราย่ำอยู่กับที่กันหรือยังไง ชอบมากใช่มั้ยการเป็นทาสเป็นฝุ่นน่ะ
และนี่…”สอดรับ”ทันที
Adisorn Juntrasook
เช้านี้ได้รับโทรศัพท์จากนักศึกษาว่ามีตำรวจกำลังบุกเข้าค้นที่พักเพื่อยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของรุ้ง เบนจา และ นิราภร นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย? อัพเดต: ตอนนี้กำลังประสานงานกับทนายศูนย์สิทธิให้อยู่ครับ
Adisorn Juntrasook คือใคร?
คือ “ศ.ดร.อดิศร จันทรสุข” รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เห็นมั้ย…
ในถนน ในสภา ในมหา’ลัย ในสถานทูต ในหน่วยงานรัฐ ในองค์กรโลก-องค์กรสังคม
เชื่อมโยงเป็นใยแมงมุม “ขยุ้มประเทศ-ล้มสถาบัน”
ฉะนั้น….
เปลี่ยนจากไล่รัฐบาล ทหาร ตำรวจ ไปร่วมมือกัน “ปิดตรอกตีตะกวด” ดีกว่า!