จุดเริ่มต้นการมีหัวใจอาสามักจะเกิดจากสังคมบ้าน สู่โรงเรียน มาสู่องค์กร สูงสุดไปสู่ระดับประเทศ มีผู้คนมากมายที่ใช้เวลาว่างในวันเสาร์-อาทิตย์ ร่วมทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ด้วยใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วย “ความเสียสละ” ต่อผู้อื่น หลายคนพร้อมที่จะทุ่มเททำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในทุกๆวัน สร้างความสุขให้สังคมน่าอยู่ส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจที่มีพวกเขาอยู่ร่วมในสังคม และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นทำเป็นแบบอย่างที่ดี การอยู่ร่วมกันในสังคมจะอยู่อย่างมีความสุขพึ่งพาซึ่งกันและกัน เห็นอกเห็นใจช่วยเหลือกัน
หลายองค์กรต่างร่วมรณรงค์ส่งเสริมให้พนักงานมีหัวใจอาสาร่วมทำประโยชน์ให้สังคมน่าอยู่ เพราะแต่ละคนจะมีรูปแบบของหัวใจอาสาที่ต่างกัน แรงผลักดันที่จะทำให้พนักงานในองค์กรร่วมกันสร้างประโยชน์ให้สังคมต้องเกิดจากกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ร่วมมือร่วมใจกัน
คุณวิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า บริษัทให้ความสำคัญและส่งเสริมให้พนักงานเป็นทั้ง “คนเก่ง” และ “คนดี” ของสังคม จึงได้จัด โครงการจิตอาสา 60 ปี ไทยออยล์ “คุณริเริ่ม…เราเติมเต็ม
เป็นโครงการหนึ่งในกิจกรรมสร้างวัฒนธรรมจิตอาสาเชิญชวนให้พนักงานสร้างสรรค์กิจกรรมด้วยตนเองเพื่อร่วมบำเพ็ญประโยชน์หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ชุมชนและสังคมโดยใช้แรงกาย แรงใจ และทรัพยากรของตนเองภายใต้แนวคิด “คุณ …ริเริ่ม” จากนั้นบริษัทฯ จะร่วมสนับสนุนเป็นเงินบริจาค “…เราเติมเต็ม” เพื่อมอบให้มูลนิธิกุศล ต่างๆ 5 แห่ง
ได้แก่ มูลนิธิธรรมรักษ์ (วัดพระบาทน้ำพุ) อ.เมือง จ.ลพบุรี มูลนิธิวัยวัฒนานิวาส สถานสงเคราะห์คนชรา ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มูลนิธิบ้านครูบุญชูเพื่อเด็กพิเศษ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ การุณยเวศม์ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
หัวใจอาสาของเหล่าพนักงาน
คุณปฏิภาณ มีสุขสบาย หรือ โจ เป็นสมาชิกน้องใหม่ไทยออยล์ได้เพียง 3 ปี เข้าร่วมเป็นจิตอาสามาแล้ว 2 ครั้งในโครงการใหญ่ๆระดับประเทศในเรื่องของการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้กับโรงพยาบาลธัญญารักษ์ จ.แม่ฮ่องสอน และโรงพยาบาลแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อสร้างผลประหยัดจากการใช้ไฟฟ้า กลับมาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆของโรงพยาบาล
ปีที่แล้วใช้วันหยุดในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ ไปเป็นจิตอาสาโดยได้รับหน้าที่ดูแลในเรื่องเทคนิคการออกแบบและติดตั้ง รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องจนสามารถส่งมอบให้กับโรงพยาบาลธัญญารักษ์ สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสร้างประโยชน์ให้กับผู้ป่วยและบุคลากรของโรงพยาบาล
ส่วนปีนี้เข้าไปช่วยดูเรื่องของระบบการตรวจสอบ การติดตั้งของผู้รับเหมาให้กับโรงพยาบาลแหลมฉบัง โดยดูแลตั้งแต่เรื่องของเอกสารสัญญา การสำรวจพื้นที่ ติดตั้ง และตวรจรับงานจนสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย ทั้ง 2 โครงการที่เข้าร่วมเป็นจิตอาสานั้น เป็นความรู้ที่ได้มาจากการทำงานที่ไทยออยล์ทั้งสิ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมจิตอาสาสร้างประโยชน์คืนให้กับสังคม
ซึ่งก่อนหน้านี้ตอนเรียนที่มหาวิทยาลัย ได้เข้าไปเป็นจิตอาสาทำเรื่องระบบไฟฟ้าให้กับโรงเรียนในต่างจังหวัดหลายโรงเรียนด้วยเช่น โครงการต่อไปในช่วงปลายปีจะเข้าไปดูแลโครงการติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือคาดว่าจะเป็นที่อำเภออมก๋อย จ.แม่ฮ่องสอน เช่นกัน
“การนำความรู้ที่ได้เรียน มาต่อยอดในการสร้างประสบการณ์กับบริษัทฯ ทำให้ผมมีโอกาสในการแสดงความสามารถในการทำงานและเจริญเติบโตในองค์กร ผมจึงคิดอยากนำประสบการณ์เชิงวิศวกรรมที่ผมได้มานี้ ไปใช้พัฒนาโครงการเพื่อสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสิ่งดีๆให้ชุมชนรอบข้างต่อไป”
คุณดำรงศักดิ์ ยืนยาว หรือ ยาว ใช้เวลาว่างช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ไปเป็นนักจิตวิทยาจิตอาสาช่วยเหลือสังคม จุดเริ่มต้นของงานอาสาครั้งนี้มาจากตอนที่เข้าไปเรียนต่อปริญญาโท คณะจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ฟังเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่แม่ให้พ่อข่มขืนลูกตัวเองนาน 3 ปี ถึงแม้จะมีนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปช่วยเหลือแล้ว แต่ไม่มีนักจิตวิทยาเข้าไปดูแลในเรื่องของจิตใจที่บอบช้ำ เนื่องจากขาดแคลนบุคคลากรมีไม่เพียงพอ จึงเกิดความสงสารกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้มาเป็นจิตอาสาด้านจิตวิทยา
ปัจจุบันได้เป็นนักจิตวิทยาอาสาของผู้ป่วยในแผนกผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา งานจิตอาสาแบบนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษามีปัญหาด้านความคิด และอารมณ์ ส่วนใหญ่เขาจะรู้สึกผิด มีปมที่จิตใจ ต้องเจาะลึกและเข้าใจเรื่องที่เป็นปมของเขา เราไม่ได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้ ทุกคนจะแก้ปัญหาของตัวเอง เลือกเอง เราไม่มีส่วนในตัดสินใจแทนเขา แค่ไปสร้างสัมพันธภาพความเข้าใจและรับฟังปัญหา
แต่ความยากของงานจิตอาสาแบบนี้คือ ผู้ป่วยอาจไม่เล่าความจริง จึงไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้ นอกจากนี้เข้าไปเป็นนักจิตวิทยาอาสาที่ศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติด โรงพยาบาลแหลมฉบัง ช่วยเหลือเรื่องเด็กติดยา 70% ของผู้ติดยาที่ถูกบำบัดแล้วมักกลับมารักษาอีกครั้ง จึงต้องทำให้เด็กเหล่านี้ไม่กลับมาบำบัดอีก สิ่งที่ได้จากการเป็นจิตอาสาในครั้งนี้ทำให้เรารับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น สามารถช่วยพัฒนาการทำงานที่บริษัทได้อีกต่อหนึ่ง การที่ได้เข้าร่วมโครงการคุณริเริ่มเราเติมเต็ม เพื่อต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นมาเข้าร่วมเป็นจิตอาสาเพิ่มมากขึ้น โครงการนี้ไม่ได้จบที่ทำความดี แต่เป็นการปลูกฝังการทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นได้ในทุกๆเรื่อง
“การสร้างแรงบัลดาลใจให้กับคนที่เคยผิดพลาดและอยากได้โอกาสถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะทำให้คนเหล่านั้นเห็นค่าในตนเอง เมื่อพวกเขาเห็นคุณค่าในตนเอง จะทำให้พวกเขาสร้างโอกาสในการพึ่งพาตนเองได้ และเมื่อพวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็จะทำให้สังคมและประเทศชาติเข้มแข็งได้ด้วย”
คุณวศินี ชูแสง หรือ ทราย เป็นจิตอาสากู้ภัย สังกัดมูลนิธิสว่างประทีปของศรีราชา ทำมาเกือบ 10 ปี ใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำที่ไทยออยล์ ในช่วงเวลาเลิกงานไปจนถึงเที่ยงคืน จึงกลับมาพักผ่อนเพื่อเริ่มงานประจำของเช้าวันใหม่ และวันเสาร์-อาทิตย์ ทำเป็นประจำอย่างนี้ทุกวัน แรงบัลดาลใจเกิดจากครั้งแรกตามรุ่นพี่ไปช่วยงานกู้ภัย ไปเจอเหตุการณ์ที่ผู้ประสบอุบัติเหตุสลบปลุกไม่ฟื้น ญาติผู้ประสบภัยเข้ามาอ้อนวอนให้ช่วยชีวิตอย่างน่าสงสาร จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ตั้งใจว่าต้องเป็นจิตอาสากู้ภัยอย่างจริงจัง และศึกษาเรื่องของการช่วยเหลือจริงๆ ต้องทำอย่างไร
การช่วยชีวิตคนต้องเร่งรีบ เพื่อลดการสูญเสีย จึงไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตั้งแต่หลักสูตร EMT (Emergency Medical Technician) เป็นหลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและอาสาสมัคร (อาสากู้ชีพ) และหลักสูตรปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐานและช่วยปฏิบัติการแพทย์ขั้นสูง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนพร้อมบัตรอนุญาตจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ทุกหลักสูตรที่เรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดทั้งค่าเรียนและค่าเดินทาง เพราะต้องเดินทางช่วงเสาร์อาทิตย์จากชลบุรี ไปเรียนที่ จ.จันทบุรี
การเป็นอาสากู้ภัยถือเป็นบ้านหลังที่ 2 ที่ทำงานแล้วมีความสุข ประกอบกับที่ศรีราชามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทุกวัน การช่วยเหลืออย่างถูกวิธีและรวดเร็วจึงทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุปลอดภัย ลดการสูญเสียที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ที่เข้าไปช่วยเหลือจะเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนน คลอดลูกฉุกเฉิน อาสากู้ภัยจะช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนส่งต่อแพทย์ คิดว่าจะเป็นจิตอาสากู้ภัยต่อไปเรื่อยๆ ถ้ามีลูกก็จะพาเขาไปไปช่วยเหลือสังคมด้วยเช่นเดียวกัน
“การเป็นอาสากู้ภัยเป็นงานหนักที่ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจ ใช้เวลาในการเรียนรู้ เพื่อสร้างองค์ความรู้และประสบการณ์ในการช่วยยับยั้งไม่ให้เกิดการสูญเนื่องมาจากอุบัติเหตุ หากเราสามารถเสียสละเวลาและนำประสบการณ์นี้มาช่วยสังคมได้ เราจะสามารถช่วยการลดอัตราการทุพลภาพลงได้ เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดภาระให้กับชุมชนและสังคมรอบข้างที่สร้างคุณค่าได้ไม่รู้จบ”