สคช. แกะกล่อง 5 มาตรฐานอาชีพใหม่ ชู “ปริญญาอาชีพ” คำตอบของการพัฒนาประเทศ

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. จัดงานแถลงข่าว “เปิดตัว 5 มาตรฐานอาชีพใหม่ รองรับการพัฒนากำลังคนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2564 ผ่านออนไลน์ ทั้งทางระบบ Zoom Conference และ Facebook Fanpage สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดย 5 มาตรฐานอาชีพใหม่ ซึ่งเป็นความต้องการเร่งด่วนของผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. สาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า (ระยะที่ 2) 2. สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ สาขาจิตวิทยา 3. สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน 4. สาขาวิชาชีพอนุรักษ์พื้นบ้านและศิลปหัตถกรรม (ระยะที่ 2) (งานศิลป์แผ่นดิน) และ 5. สาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์การกีฬา อาชีพมวยไทย

ปริญญาอาชีพ คำตอบของโลกยุคใหม่

นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นเสมือนตัวเร่งให้เกิดการปรับตัวในทิศทางต่างๆอย่างชัดเจน สคช. จึงได้ใช้วิกฤตนี้ในการเตรียมความพร้อมกำลังคนในอาชีพ ด้วยทักษะและองค์ความรู้ที่จะมารองรับทุกการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับปริญญาอาชีพหรือคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเทียบเท่าหรือมากกว่าใบปริญญา ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานอาชีพจึงเป็นเครื่องมือที่จะตอบโจทย์ในการวัดสมรรถนะของบุคคล ทำให้เกิดการยกระดับความสามารถของคนในอาชีพได้อย่างที่สากลให้การยอมรับ ซึ่งจะเป็นช่องทางการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้คนในอาชีพ และยังเป็นการเตรียมบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อีกด้วย

ปัจจุบัน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพกว่า 835 อาชีพ ใน 52 สาขาวิชาชีพ มีผู้เข้ารับการประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพแล้วกว่า 200,000 คน โดยในปี 2564 มีเป้าหมายในการจัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพที่เป็นความต้องการเร่งด่วน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยหวังว่าการแถลงข่าว 5 มาตรฐานอาชีพใหม่ในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพไปพัฒนาขีดความสามารถของบุคคล เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ที่ผันแปรได้ตามบริบททางเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ นางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ต่อยอดเติมเต็มมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้ 1. สาขาวิชาชีพอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า (ระยะที่ 2) เป็นการเสริมสร้างศักยภาพและบทบาทความเป็นผู้นำในธุรกิจการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยในระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่ร่วมกับสถาบันฯ จัดทำมาตรฐานอาชีพดังกล่าว

2. สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ สาขาจิตวิทยา เป็นการจัดทำมาตรฐานอาชีพเพื่อรองรับบุคลากรด้านจิตวิทยาสาขาอื่น ๆในไทย นอกเหนือจากอาชีพนักจิตวิทยาคลินิกที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ อาทิ บุคลากรด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็กและผู้สูงวัย รวมทั้งการปฏิบัติงานเบื้องต้นด้านการปรึกษาเชิงจิตวิทยา โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการจัดทำมาตรฐานอาชีพดังกล่าว

3. สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน สาขางานระบบส่งกระแสไฟฟ้า และสาขางานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ เป็นการทำงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะสร้างกลไกการรับรองกำลังคนให้มีประสิทธิภาพสู่ระดับสากล โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาโครงการในการจัดทำมาตรฐานอาชีพนี้

4. สาขาวิชาชีพอนุรักษ์พื้นบ้านและศิลปหัตถกรรม (ระยะที่ 2) (งานศิลป์แผ่นดิน) เป็นการทำงานร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ในการสงวนรักษาองค์ความรู้ที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของประเทศ อันเป็นเอกลักษณ์ทางความงามเฉพาะด้านของไทย ซึ่งเกี่ยวเนื่องทั้งช่างหัวโขน ช่างพัสตราภรณ์ ช่างเขียน ช่างปูนปั้น ช่างรัก โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการจัดทำมาตรฐานอาชีพดังกล่าว

5. สาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์การกีฬา อาชีพมวยไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งสามารถนําไปประกอบเป็นอาชีพ พร้อมทั้งพัฒนาสู่รูปแบบธุรกิจระดับสากล ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบธุรกิจมวยไทยได้ต่อยอดจากมวยไทยเพื่อการแข่งขัน เป็นมวยไทยเพื่อการออกกำลังกายและการป้องกันตัว ซึ่งมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการจัดทำมาตรฐานอาชีพดังกล่าว

ด้านนายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า ปัจจุบันแต่ละมาตรฐานกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำวิธีการประเมินว่า ผู้ที่เข้ามาขอรับคุณวุฒิวิชาชีพมีสมรรถนะสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ อย่างไร ซึ่งในแต่ละอาชีพก็จะมีบริบทแตกต่างกันไป โดยทั่วไปการประเมินอาจประกอบด้วยข้อเขียนทฤษฎี การสัมภาษณ์ รวมถึงการยื่นเอกสารองค์ประกอบต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการประเมินอีกส่วนหนึ่งที่ เรียกว่า “การประเมินแบบเทียบโอนประสบการณ์” เพื่อรองรับคุณวุฒิวิชาชีพให้แก่บุคลากรที่ทำงานอยู่ในอาชีพและมีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับมาตรฐานอยู่แล้ว โดยสามารถยื่นเอกสารหลักฐานผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับองค์กรรับรอง (Certification Body) ซึ่งได้ทำการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในแต่ละวิชาชีพ เนื่องจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพไม่ได้มีหน้าที่ประเมินเอง

ทั้งนี้ ตลอดปีงบประมาณ 2564 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมกับเครือข่ายในระบบคุณวุฒิวิชาชีพจัดทำมาตรฐานอาชีพ ยึดโยงกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและรองรับความต้องการกำลังคนอย่างเร่งด่วนของตลาดแรงงาน รวมทั้งผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากมาตรฐานอาชีพ และมืออาชีพ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของกำลังคนในประเทศให้เทียบเท่าระดับสากล อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทย ให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

Written By
More from pp
แพทย์ผิวหนังชี้ร้อนนี้ต้องระวัง
สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ชี้ร้อนนี้ต้องระวัง โรคผิวหนังที่พบได้ในหน้าร้อน พร้อมแนะนำการดูแลและการป้องกันผิวจากแสงแดดที่ถูกวิธี หมั่นสังเกตตนเองหากมีความผิดปกติทางผิวหนัง ควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงเดือน...
Read More
0 replies on “สคช. แกะกล่อง 5 มาตรฐานอาชีพใหม่ ชู “ปริญญาอาชีพ” คำตอบของการพัฒนาประเทศ”