19 องค์กรเกษตรกร รับทราบมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ชี้เลื่อนแบนพาราควอต ไม่ได้ช่วยเกษตรกร อุตสาหกรรมในประเทศ และการส่งออก หากรัฐมนตรีลงนามในประกาศฯ ก็จะยื่นเรื่องฟ้องศาลทันที เพราะเสียหายหนัก ปีหน้าเกษตรกรต้นทุนเพิ่ม 1,400% กระทบมูลค่าการส่งออก 5.7 แสนล้านบาท GDP ภาคการเกษตรหายวับ 43%
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศฯ เรื่องยกเลิก 3 สารเคมีเกษตร และข้อมูลจาก 19 องค์กรเกษตรถึงความจำเป็นของพาราควอตต่อพืชเศรษฐกิจ และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ไม่ถูกนำไปประกอบการพิจารณาในการตัดสินของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ดังนั้น 4 เดือนจากนี้ไป กรมวิชาการเกษตร จะต้องศึกษาข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจ และหาสารทดแทนมาให้ได้ หากยังไม่มีความชัดเจน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเซ็นต์ประกาศยกเลิกพาราควอตไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเกษตรกรจะฟ้องศาลปกครองต่อทันที และรัฐบาลต้องระงับการนำเข้า ถั่วเหลือง ข้าวสาลี พืช ผักและผลไม้จากต่างประเทศ ซึ่งยังใช้ พาราควอต ด้วยเช่นกัน
ด้าน นายกิตติ ชุณหะวงศ์ นายกสมาคมอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การตัดสินครั้งนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า หน่วยงานภาครัฐยังไม่มีความเข้าใจต่อภาคเกษตรกรรมของไทย โดยเฉพาะการใช้ พาราควอต ในกลุ่มพืชเศรษฐกิจ 6 อุตสาหกรรมสำคัญ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เกษตรกรจึงต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน 1,400% ส่งผลต่อเนื่องไปยังมูลค่าการส่งออก 5.7 แสนล้านบาท ส่วน 43% ของ GDP ภาคการเกษตรที่หายไป หรือ จะหายไปอีกเท่าไร เหมือนรัฐบาลจะไม่สนใจ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมในประเทศ และการส่งออก ซึ่งสร้างรายได้ให้ประเทศนับหลายแสนล้านบาท ทั้งนี้ สมาคมฯ จะประสานงานไปยังกรมวิชาเกษตร เพื่อรายงานถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน
มาตรการรองรับ จัดการ และช่วยเหลือที่จะช่วยเกษตรกรอย่างยั่งยืนนั้น ยังไม่มี ไม่มีสิ่งหรือสารทดแทน ตอนนี้ มีแต่นโยบายด้านงบประมาณที่เร่งรีบอนุมัติ อาทิ งบชดเชยให้เกษตรกรกว่า 3 หมื่นล้านบาท งบจัดซื้อเครื่องจักรตัดหญ้าอีก 2 ร้อยล้านบาท ได้ยินมาว่า งบประมาณเครื่องตัดหญ้าตั้งไว้สูงถึง เครื่องละ 15,000 บาท ทั้งที่ในความเป็นจริงเครื่องตัดหญ้าระบบมือ เพียงเครื่องละไม่เกิน 5,000 บาท ตรงกันข้าม งบที่ควรจะมี เพื่อใช้ในการอบรมเกษตรกรให้ใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้อง เพียง 90 ล้านบาท กลับไม่อนุมัติและไม่ส่งเสริม
“เกษตรกร 1.5 ล้านราย เตรียมเดินหน้าฟ้องศาลปกครองทันทีเพื่อคุ้มครองเกษตรกร และการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560 มาตรา 73 ที่กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกช่วยเกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัยโดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือด้วยวิธีอื่น” นายสุกรรณ์ กล่าวทิ้งท้าย “ที่สำคัญ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า มีสารทดแทนแล้ว ช่วยระบุชื่อสารฯให้เกษตรกรทราบด้วย เพราะถามมาหลายปีแล้ว ยังไม่มีทดแทน แต่พอประกาศแบนแล้วมีทันที ฝากท่านแจ้งให้ทราบภายในพรุ่งนี้ด้วย อย่าเอาแต่พูดมั่ว ๆ”
19 องค์กรเกษตร ประกอบด้วย สมาพันธ์เกษตรปอลดภัย สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สมาคมโรงงานแป้งมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายเกษตรกรผลไม้จังหวัดจันทบุรี กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โคราช นครสวรรค์ และลพบุรี