ด้วยความบังเอิญที่ คุณโรมมณี วัชรสินธุ์ จากครอบครัวคาทอลิกผู้ศรัทธา และสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของศาสนจักร มาอย่างยาวนาน เล่าถึงการเสด็จเยือนประเทศไทย ของพระสันตปาปาฟรังซิส ให้กับคุณแป้น ล่ำซำ บิ๊กบอสแห่ง “ลดพลาสติก ไทยแลนด์” ได้ฟัง บทสนทนาในครั้งนั้นนำไปสู่ ความกังวลใจ ต่อปริมาณขยะในงาน เพราะคาดการณ์กันว่า ไม่เพียงเฉพาะคริสตสานิกชนชาวไทย แต่ยังมีผู้ร่วมงานมิซซาที่หลั่งไหลมาจากประเทศอื่นๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 50,000 คน นับเป็นงานระดับประเทศ ที่ทั่วโลกจับตามอง อีกทั้งพระสันตปาปา ฟรังซิสได้ตรัสถึงความสำคัญ ของการรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงสมณลิขิตที่ทรงมีถึง คาทอลิกทั่วโลก ให้ร่วมกันรับผิดชอบโลกใบนี้
จากความกังวลใจนั้น จึงมีการพูดคุยกับ คุณพ่อยอห์น วิรัช อมรพัฒนา, C.Ss.R เจ้าอาวาสวัดพระมหาไถ่ จนได้รับทราบว่า ทีมงานหลัก ที่เตรียมงานรับเสด็จนั้น กำลังเตรียมงานกันอย่างหนัก ไม่มีเวลาในการดูเรื่องการจัดการขยะ ทั้งในส่วนของการแยก และจัดส่งขยะไปทำประโยชน์ ทางเครือข่าย ”ลดพลาสติก ไทยแลนด์” และวัดพระมหาไถ่ จึงมีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ “ไม่ทำ” เพราะรู้แล้วว่าเป็นงานที่หนัก และเหนี่อยมากๆ หรือ “อาสาที่จะทำ” แต่ต้องเผชิญกับปัญหาในหลายๆ ด้านเอง เพื่อไม่ให้รบกวนทีมงานหลักจากทาง BEC TERO จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า “ไม่ทำไม่ได้”
คุณแป้น เสริมว่า “ความท้าทายแรก คือ การที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากเราไม่ได้ อยู่ในแผนงานหลักตั้งแต่แรก ความท้าทายที่สองคือ กำลังพล ที่จะมาช่วยกันจัดการกับขยะกว่า 500,000 ชิ้น ซึ่งถ้าหากไม่มีการแยกเลยตั้งแต่ต้น ขยะสกปรกที่รวมกันทั้งหมด จะไปลงเอยที่ภูเขาขยะฝังกลบ หรือเป็นภาระกับทางเจ้าหน้าที่ กทม.ที่จะต้องไปคัดแยกขยะอีกในภายหลัง เราควรแยกตั้งแต่เริ่มต้น”
และทันทีที่ ทีมได้ไฟเขียว จากทางคาทอลิกอัสสัมชัน เพื่อดำเนินการแผนจัดการขยะ เครือข่ายพันธมิตรสิ่งแวดล้อมของ ลดพลาสติก ไทยแลนด์ อย่าง “โครงการจุฬาซีโร่เวสท์” จึงเข้ามาช่วยแนะนำถึงแผนจัดการขยะ รวมไปถึง กลุ่มกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) “TACT” ที่เคลื่อนไหวด้านการแยกขยะทั้งในรั้ว จุฬาฯ และ “GEPP” ที่เชี่ยวชาญด้าน การส่งต่อขยะไปใช้ประโยชน์มาร่วมทีม โดยคุณแม่ของคุณโรมมณี ได้ให้ความกรุณาสนับสนุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังโชคดีราวกับพระเจ้าอำนวยพร ให้ทีมงานได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณกมลนัย ชัยเฉนียน ในการมอบหมายทีมงาน “ไทยเบฟเวอเรจรีไซเคิล” เข้าเสริมทัพและจัดเตรียม ”แหดักขวด” สำหรับแยกขวดน้ำพลาสติก ทั่วบริเวณงานกว่า 40 จุด
จากจุดนี้เอง ทีมจิตอาสาภายใต้ชื่อ “Green Angels” จึงได้กำเนิดขึ้น เพื่อเป็นผู้แนะนำการแยกขยะอย่างถูกวิธี”ในงานรับเสด็จพระสันตปาปาฟรังซิส ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ทั้งในบริเวณโรงทานข้างอาคารนิมิตบุตร สนามกีฬาเทพหัสดิน และสนามศุภชลาศัย โดยในงานนี้ ทีม Green Angels มีแนวทางแยกขยะ 2 แนวทางคือ ระบบการแยก 3 ถังสำหรับพื้นที่สนามกีฬา และ 5 ถัง สำหรับพื้นที่โรงทาน
ระบบแยก 3 ถัง 1) ถังสีเหลืองที่รับขยะแห้ง สามารถนำไปทำเชื้อเพลิงทดแทนได้ 2) ถังสีฟ้าซึ่งเป็นขยะเปียกสกปรกนำไปฝังกลบ และ 3) แหดักขวดน้ำ ส่วนในบริเวณโรงทานนั้นเนื่องจากมีขยะเศษอาหาร และภาชนะที่รีไซเคิลได้ จึงได้เพิ่มเป็นระบบ 5 ถัง คือเพิ่ม ถังสีเขียวสำหรับเศษอาหาร และ ถังสีเหลืองสำหรับภาชนะ ที่รีไซเคิลได้ เช่น ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม
ข้อความสำคัญที่ Green Angels พยายามจะบอกและเน้นย้ำทุกคนที่จุดแยกขยะ คือ ให้แยก เศษอาหาร-ขยะเปียกสกปรก ออกจากขยะแห้ง เพราะขยะแห้งยังมีโอกาสคัดกรอง เพื่อใช้ประโยชน์ได้อีกในภายหลัง เราเชื่อว่า โอกาสที่จะได้สื่อสาร หน้าจุดทิ้งขยะนี้ จะช่วยบ่มเพาะวัฒนธรรมการจัดการขยะสู่สังคมวงกว้าง โดยข้อมูลปริมาณขยะ และภาพขยะในกิจกรรม จะกระตุ้นให้เกิดความตระหนัก และแรงบันดาลใจ ในการรู้คุณค่าของอาหาร รับประทานให้หมด ลดสร้างขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) เพราะการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เป็นการแก้ปัญหาขยะที่ต้นทาง
ภารกิจหลักของ “Green Angels” จึงเป็นความท้าทายในช่วง”เปลี่ยน”และ”ปรับ” ทัศนคติในการแยกขยะ จากชุดความคิดเดิมๆ ที่ว่า”แยกทำไม? เดี๋ยวก็รวมกันอยู่ดี” สู่ชุดความคิดใหม่ที่ว่า “การช่วยแยกขยะเท่ากับการทำดีเพื่อสังคม” เพื่อโลกใบนี้ที่อยู่ร่วมกัน เริ่มง่ายๆได้ที่ตัวเรา ที่ถังขยะใบที่วางอยู่หน้าเรา แค่เราแยกสิ่งที่ยังมีประโยชน์ออกจาก ขยะไร้ค่ารอการฝังกลบ ก็เท่ากับช่วยกันรับผิดชอบต่อขยะที่แต่ละคนสร้างขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะงานรับเสด็จพระสันตปาปาฟรังซิส ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Green Angels เท่านั้น หากแต่ควรเป็นไปในทุกๆ กิจกรรม
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เกิดจากปัญหาการจัดการขยะไม่ถูกวิธี แต่ด้วยความเชื่อที่ว่า ในส่วนลึกของเราทุกคนก็อยาก”ทิ้ง”และ”แยก”ขยะให้ถูกต้อง เพียงแต่ยังขาดความมั่นใจ เพราะไม่คุ้นเคยกับ จุดทิ้งขยะที่อยู่ตรงหน้า โดยข้อมูลจากโครงการ จุฬาซีโร่เวสท์ ชี้ชัดว่า ถังขยะที่ดีที่สุดในเวลานี้ คือ “ถังขยะที่มีผู้แนะนำการทิ้งอยู่ด้วย” และคงต้องช่วยกันส่งผ่านความเชื่อมั่นนี้ไปเรื่อยๆ รอจนถึงวันที่ทุกคนจะทิ้งขยะถูกต้องได้เอง และพร้อมที่จะแนะนำผู้อื่นได้ด้วย