กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะเลือกซื้ออาหารสด อาหารสำเร็จรูป อาหารแห้งในช่วง แยกกักตัว ต้องตรวจสอบสภาพอาหาร และวันเดือนปีที่ผลิตทุกครั้ง หวั่นเป็นสินค้าเก่าเก็บ เสี่ยงเป็นเชื้อรา ยิ่งสั่งซื้อผ่านออนไลน์ ต้องยิ่งตรวจสอบให้ดี
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเฝ้าระวังของโรคโควิด–19 ที่ระบาดในขณะนี้ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีประชาชนที่เป็นผู้แยกกักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังอาการเพิ่มมากขึ้น จึงต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะการเลือกซื้ออาหารสำรองไว้ในกรณีออกจากบ้านไม่ได้ต้องเลือกซื้ออาหารและปรุงประกอบอาหารที่สะอาดและปลอดภัย สำหรับการซื้ออาหารสด ประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักและผลไม้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ มาเก็บไว้ในปริมาณพอเหมาะ เพื่อช่วยรักษาอาหารให้สดใหม่ไม่เน่าเสียอีกทั้งยังคงคุณค่าวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ
และควรแยกอาหารแต่ละประเภทให้เป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกัน รวมถึงจัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุให้เก็บไว้ได้นาน ๆ โดยเฉพาะอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ หากจะเก็บควรล้างให้สะอาดก่อนแล้วนำมาตัดแบ่งหรือหั่นเป็นชิ้นก่อนบรรจุในภาชนะที่ป้องกันการรั่วซึมได้ในปริมาณที่พอเหมาะกับการนำไปใช้ในแต่ละครั้ง แล้วจึงนำไปเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส
ไม่ควรแช่เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ ๆ หรือทั้งตัวในตู้เย็น เนื่องจากความเย็นอาจจะไม่เพียงพอ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ชิ้นเล็ก หรือชนิดบด ควรใส่ถุงพลาสติกแช่อยู่ในช่องแช่แข็ง และหมั่นสำรวจวันหมดอายุของอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็น ไม่ควรเก็บอาหารไว้มากเกินไป จนทำให้การถ่ายเทอากาศภายในตู้เย็นทำได้ไม่ดี
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หากเป็นอาหารปรุงสำเร็จบรรจุกระป๋อง ผลไม้และน้ำผลไม้กระป๋อง รวมทั้งเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ก่อนเลือกซื้อควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียด โดยต้องมีเลขสารระบบอาหารในเครื่องหมาย อย. (เลข 13 หลัก) สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่วหรือเป็นสนิม ในส่วนการสั่งซื้ออาหารแห้งผ่านออนไลน์จำพวกธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้งและผลไม้แห้งต่าง ๆ อาจทำให้ได้รับสินค้าเก่าเก็บเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราได้
เนื่องจากอาหารที่ผ่านกระบวนการอบแห้งหรือการตากแห้งเพื่อลดปริมาณน้ำในอาหาร เป็นการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์และชะลอการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเสียของอาหาร อาจมีความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อราได้ง่าย หากเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไป หรือไม่มีการอบ ให้แห้งดีพอ ก่อให้เกิดสารอะฟลาท็อกซิน เมื่อบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้
“ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าควรสอบถามถึงคุณภาพและวันหมดอายุกับผู้ขายก่อนทุกครั้ง รวมถึงพิจารณาภาพประกอบการขายสินค้าอย่างละเอียด เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ และเมื่อได้รับสินค้าแล้วควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ และก่อนที่จะนำมาปรุงประกอบอาหารควรล้าง ให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อนที่อยู่ในอาหาร และควรปรุงสุกทุกครั้งก่อนนำมาบริโภค” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว