แม้กินยาฆ่าเชื้อแค่ครั้งเดียว อาจเสี่ยงโรคลำไส้โป่งพอง 

ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคติดเชื้อต่าง ๆ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย แต่รู้หรือไม่ว่าการได้รับยาฆ่าเชื้อเพียงแค่ครั้งเดียว ก็สามารถทำให้ลำไส้อักเสบติดเชื้อ จนกระทั่งเป็นโรคลำไส้โป่งพองได้

แพทย์หญิงจรรยวรรธน์ สร้างสมวงษ์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคลำไส้โป่งพอง (Toxic Megacolon) เป็นภาวะที่เกิดจากการอักเสบ หรือติดเชื้อรุนแรงของลำไส้ใหญ่ จนทำให้ลำไส้มีภาวะโป่งตัวและบีบรัดตัวผิดปกติ โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของลำไส้อักเสบจนเกิดลำไส้โป่งพองที่พบได้บ่อย คือ เชื้อคลอสติเดี้ยม ดิฟิซายล์ (Clostridium difficile

ปกติในร่างกายจะมีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ในลำไส้อยู่แล้วตามธรรมชาติ (normal flora) และเป็นกลไกสำคัญที่คอยควบคุมไม่ให้มีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดอื่นๆมากผิดปกติ เมื่อร่างกายได้รับยาปฏิชีวนะ เชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติเหล่านี้ตายไป จึงเกิดการสูญเสียสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้  ทำให้เชื้อ C. difficile เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในลำไส้ได้ ซึ่งมีรายงานว่าแม้ได้รับยาปฏิชีวนะเพียงครั้งเดียว ก็สามารถเกิดลำไส้อักเสบจากเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ได้ กลุ่มยาปฏิชีวนะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลำไส้อักเสบจาก C. difficile เช่น clindamycin, ampicillin, cephalosporin เป็นต้น

อาการแสดงของลำไส้อักเสบจากเชื้อ C. difficile ในรายที่ติดเชื้อไม่รุนแรง อาจไม่มีอาการ หรือมีท้องเสียเป็นน้ำปนมูกฉับพลัน สำหรับรายที่มีการติดเชื้อรุนแรง อาจมีไข้ ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรงจนอาจมีภาวะช็อกจากการขาดน้ำ หากอาการรุนแรงมากขึ้นอาจเกิดภาวะลำไส้โป่งพอง หรือลำไส้ทะลุได้ เพราะฉะนั้น หากเริ่มมีอาการที่น่าสงสัยและมีประวัติเคยได้รับยาปฏิชีวนะ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว การนำอุจจาระมาตรวจร่วมกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะสามารถช่วยวินิจฉัยภาวะลำไส้อักเสบจากเชื้อ C. difficile ส่วนรายที่มีอาการท้องอืดรุนแรง CT Scan จะช่วยแยกรอยโรคลำไส้โป่งพองออกจากโรคอื่น ๆ ได้ โดยภาพ CT Scan จะเห็นว่าลำไส้บวมหนาจากการอักเสบติดเชื้อ และพบการอักเสบในช่องท้อง

โรคลำไส้โป่งพองถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรักษา เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ระบบอวัยวะภายในล้มเหลว (multiorgan failure ) ลำไส้แตกทะลุ โดยการรักษาสามารถทำได้ตั้งแต่ให้ยาฆ่าเชื้อจำเพาะต่อ C. difficile ให้สารน้ำทางเส้นเลือด แต่หากร่างกายไม่ตอบสนองต่อยา ต้องทำการผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ทั้งหมดที่ติดเชื้อออก และใช้เปิดทวารเทียมบนหน้าท้อง อย่างไรก็ตาม ในรายที่มีการติดเชื้อรุนแรงจนต้องผ่าตัดนั้น มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 60

“ปัจจัยเสี่ยงของโรคลำไส้โป่งพอง ไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ มีประวัติเคยได้รับยาฆ่าเชื้อใน 3 เดือนที่ผ่านมา มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เจ็บป่วยหนักรักษาตัวใน ICU หรือมีโรคประจำตัวเป็น inflammatory bowel disease (IBD) อุบัติการณ์ของลำอักเสบจากเชื้อ C. difficile จะลดลงหากลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น” แพทย์หญิงจรรยวรรธน์กล่าว

แพทย์หญิงจรรยวรรธน์ สร้างสมวงษ์ 

ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลเวชธานี  

Written By
More from pp
หม่อมเต่า ร่วมกับ สำนักงานเขตบางซื่อ กทม. สื่อวันแห่งความรัก “14 กุมภา วันวาเลนไทน์” จัดกิจกรรม “ประกันสังคมรักและซื่อตรง” ขับเคลื่อนการรับรู้ สร้างหลักประกันความมั่นคงในครอบครัว
หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล ( หม่อมเต่า) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับสื่อมวลชน ในโอกาสเป็นประธานจัดงาน “ประกันสังคมรักและซื่อตรง” ในวันศุกร์ที่ 14 มกราคม...
Read More
0 replies on “แม้กินยาฆ่าเชื้อแค่ครั้งเดียว อาจเสี่ยงโรคลำไส้โป่งพอง ”