เช็ดขี้ให้ยังโดนด่า-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

พูดไปมันก็เหลือเชื่อ
มีคนขี้กองไว้ในที่สาธารณะ ผู้คนเดินผ่านไปผ่านมาทนไม่ไหว จัดการโกยขี้ไปทิ้ง
แต่เจ้าคนที่ขี้ ออกมาโวยวาย
โกยทำไม?
ด่าคนโกยเป็นพวกเลวระยำต่ำช้า จะต้องรับผิดชอบ
ครับ…การอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนวานนี้ (๑๘ กุมภาพันธ์) ฝ่ายค้านเอาเรื่องเหมืองทองอัครามาโจมตีรัฐบาลอีกครั้ง

เหมืองทองอัครา หรือ เรียกว่า เหมืองทองคำชาตรี ตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อ ๓ จังหวัด คือ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์
แต่คนอภิปรายคือ จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย
ประเด็นที่นำมาอภิปรายก็ตามนี้….

“….การให้อาชญาบัตรสำรวจแร่ เกือบ ๔ แสนไร่ การให้สิทธิประทานบัตร เกี่ยวข้องกับกฎหมายไทยหลายฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติเหมืองแร่ พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๑๗ วรรคสี่ กำหนดว่าเขตทำเหมืองแร่ ห้ามทำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตป่าสงวน พื้นที่เขตปลอดภัย ต้นน้ำ หรือแหล่งน้ำซับซึม

แต่ปรากฏว่า ตั้งแต่กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ผ่านมา ๕ ปี ยังมีการยื้อเวลา ไม่ประกาศเขตเหมืองแร่ แต่ตอนนี้มีการเปิดทางให้มีการสำรวจแร่ ๖ แสนไร่ที่คิงส์เกตขอไว้ คือแหล่งสุวรรณและแหล่งโชคดี ซึ่งเป็นแหล่งทองคำ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย และทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก

ถามว่านายกฯ จะยกให้คิงส์เกตหรือไม่ ขณะนี้กำลังมีการทอดเวลา รัฐบาลกำลังค่อยๆ แล่เนื้อเถือแผ่นดิน

หากไม่แสวงหาความจริงได้ ขอให้ทุกคำถามประทับอยู่ในหัวใจทั้งประเทศ พรรคเพื่อไทยไม่มีวันลืม แสวงหาข้อเท็จจริงทุกช่องทาง นำความจริง ตีแผ่เบื้องหลัง หากการเจรจายอมความมีพฤติกรรมไม่สุจริต มีข้อแนะนำเดียว คือ ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์เตรียมทีมทนายทั้งในและต่างประเทศไว้ให้ดี

หลายครั้งที่พรรคเพื่อไทยถามเรื่องนี้ แต่นายกฯ กลับตอบไม่ตรงคำถาม จนกลายเป็นคดีระหว่างประเทศที่ดำมืด

ขณะนี้มีการเปิดทางให้คิงส์เกตนำผงเงินผงทองคำที่ถูกอายัดไว้ออกขาย ให้สิทธิสำรวจแร่เกือบ ๔ แสนไร่ การให้สิทธิต่อประทานบัตร ๔ แปลง

อยากถามว่านี่คือส่วนหนึ่งของการเจรจาประนีประนอมยอมความของทั้งสองฝ่ายหรือไม่ ถ้าตอบว่าทั้งหมดไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการประนีประนอม ทำไมการฟ้องร้องกันยังไม่ยุติ หรือคดีไม่ถึงที่สุด แต่รัฐบาลไทยกลับเปิดเหมืองให้ทำต่อ

เป็นไปได้อย่างไรที่คดีเดิมมีการฟ้องร้อง เพียง ๓ พันกว่าไร่ ยังไม่ยุติ นอกจากได้สิทธิเก่าคืนแล้ว ยังได้สิทธิใหม่เพิ่มเติม เท่ากับว่าเป็นการใช้พื้นที่เฉียดหนึ่งล้านไร่ เพื่อสังเวยค่าโง่ ของการใช้ ม.๔๔ สั่งปิดเหมืองทองอัครา….”

ครับ…ประเด็นทั้งหมดนี้ มีจุดเริ่มจากไหน
เคยนำเสนอไทม์ไลน์เหมืองทองอัครามาครั้งหนึ่งแล้ว วันนี้ก็ซ้ำอีกที

๒๕๓๗ ยุครัฐบาลชวน ๑ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด เริ่มทำการสำรวจแหล่งแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์
ทั้งสองจังหวัดเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ที่อยู่นอกพื้นที่พัฒนาเหมืองแร่ทองคำ เป็นโครงการใหญ่ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม

๒๕๔๓ รัฐบาลชวน ๒ บริษัทอัคราฯ ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์และพิจิตร รวม ๔ แปลง

๒๕๔๔ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร บริษัทอัคราฯ ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนจาก BOI โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ๘ ปี จึงเริ่มผลิตทองคำเชิงพาณิชย์

๒๕๔๖ รัฐบาลทักษิณ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ๖ แปลง แต่มาเปิดกิจการทำเหมืองและประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ก่อนรัฐบาลนายทักษิณประกาศยุบสภา

หลังบริษัทอัคราฯ ผลิตทองคำในเชิงพาณิชย์ได้ไม่นาน ก็เริ่มมีความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งปัญหาเรื่อง ฝุ่นละออง เสียงรบกวน มีการยื่นหนังสือให้รัฐบาลระงับการทำเหมืองมาต่อเนื่อง

๒๕๔๙ รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ สั่งทบทวนนโยบายพัฒนาเหมืองแร่ทองคำ
รัฐบาลขณะนั้นยืนยันให้ความสำคัญกับเรื่องความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร

มติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ ๑๐/๒๕๕๐ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๐ มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาทบทวนการกำหนดค่าภาคหลวงแร่ทองคำให้เหมาะสม
ตุลาคม ๒๕๕๐ กระทรวงอุตสาหกรรม ออกกฎกระทรวงปรับอัตราค่าภาคหลวงใหม่

จากเดิมใช้อัตราคงที่ ร้อยละ ๒.๕ เปลี่ยนมาใช้อัตราก้าวหน้าร้อยละ ๐-๒๐ ซึ่งมีอัตราการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ทองคำที่แท้จริง หรือ effective rate เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๑๐

ปี ๒๕๕๖ กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอร่างนโยบายสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำฉบับใหม่ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและการทำเหมืองแร่ทองคำ

แต่ “ยิ่งลักษณ์” ประกาศยุบสภาไปเสียก่อน
เรื่องค้างมาถึงรัฐบาลลุงตู่

มีชาวบ้านร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมลพิษจากเหมืองที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสารพิษปนเปื้อนในน้ำ ดิน และอากาศ
รวมถึงสภาวะเครียดที่เกิดขึ้นจากเสียงของอุตสาหกรรม

“ลุงตู่” ใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ออกคำสั่งที่ ๗๒/๒๕๕๙ ระงับการทำเหมืองทองคำและประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ท่ามกลางเสียงสรรเสริญจากชาวบ้าน และองค์กรพัฒนาเอกชน

คำสั่งระบุว่า มีการร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคําเนื่องจากได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทําเหมืองแร่ทองคําหลายแห่ง

จึงมีความจําเป็นต้องกําหนดมาตรการในการป้องกันและระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งกําหนดมาตรการในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา
จึงมีคำสั่งระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๐

อันที่จริง “ลุงตู่” จะเมินเฉย ไม่สนใจที่ชาวบ้านเดือดร้อนก็ได้ ปล่อยให้รับมรดกบาปจากผลงานที่ “ทักษิณ” ร่วมก่อเอาไว้
แต่ก็ตัดสินใจเช็ดขี้ให้รัฐบาลก่อน ด้วย ม.๔๔

และนี่เองทางบริษัทคิงส์เกตจึงได้เจรจาเพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลไทยชดใช้เป็นจำนวนเงินประมาณ ๓ หมื่นล้านบาท แต่การเจรจาไม่เป็นผล

เมื่อเจรจาไม่สำเร็จ บริษัทคิงส์เกตได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย Statement of Claim ได้ถูกยื่นต่ออนุญาโตตุลาการด้วยการขอตั้ง คณะอนุญาโตตุลาการ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย

รัฐบาลไทยและคิงส์เกตเริ่มเข้ากระบวนการไต่สวนอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ ๓-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ที่สิงคโปร์
การพิจารณายังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ทางรัฐบาลไทยต้องการใช้แนวทางการเจรจาโดยยึดหลักรัฐไม่เสียหาย เอกชนต้องอยู่ได้

ถามคนอภิปรายว่า เรื่องแบบนี้ตัดสินใจง่ายอย่างนั้นหรือ
ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะตัดสินใจแบบไหน

ด่าในสภามันง่ายครับ ลงเนื้องานจริงๆ ผลกระทบมันเยอะ

แน่นอนครับรัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลที่ก่อเรื่องจะโยนขี้ให้คนอื่น แถมยังด่าไล่หลังอีก โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
มันเคยตัว


Written By
More from pp
“โฆษกพรรคเพื่อไทย” ชี้ รัฐบาลจัดทำร่างประชามติ-ตั้ง คกก.สมานฉันท์ เป็นเพียงการซื้อเวลา
ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามและส่งหนังสือเรื่องร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …....
Read More
0 replies on “เช็ดขี้ให้ยังโดนด่า-ผักกาดหอม”