กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ช่วงปิดสถานศึกษาเพื่อลดการติดเชื้อโควิด 19 หาพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก ระมัดระวังไม่ให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำตามลำพัง ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝน อาจทำให้ระดับน้ำเปลี่ยน ขอบบ่อลื่น เด็กเสี่ยงตกน้ำและจมน้ำเสียชีวิตได้
30 มิถุนายน 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคโควิด 19 ในช่วงนี้ ยังพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานศึกษาในหลายพื้นที่ปิดเพื่อลดการรวมตัวกันของคนจำนวนมากและเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19
ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่จะอยู่กับบ้าน แต่อาจมีเด็กๆ บางส่วนที่มักชวนกันไปเล่นตามสถานที่ต่างๆ อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 จากการรวมตัวกันของเด็กๆ แล้วยังเสี่ยงเกิดการจมน้ำเสียชีวิตได้
ข้อมูลจากระบบรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ (Drowning Report) ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-28 มิถุนายน 2564 ในเบื้องต้น พบเหตุการณ์การตกน้ำ จมน้ำ ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 95 เหตุการณ์ เสียชีวิต 120 ราย เป็นเพศชาย 85 ราย เพศหญิง 35 ราย (เพศชายจมน้ำเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิงถึง 2.4 เท่า)
กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 5-9 ปี (ร้อยละ 40.8) แหล่งน้ำที่พบเด็กจมน้ำมากที่สุด คือ สระน้ำ คลอง บ่อน้ำ หนองน้ำ และทะเล ตามลำดับ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำ (ร้อยละ 60) รองลงมา คือ ลื่นพลัดตกน้ำ (ร้อยละ 31.7)
ส่วนจังหวัดที่มีเด็กเสียชีวิตมากที่สุด คือ บุรีรัมย์ ปัตตานี และสงขลา จังหวัดละ 8 ราย รองลงมา คือ กาฬสินธุ์ ยโสธร และอุบลราชธานี จังหวัดละ 7 ราย และเป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงปิดสถานศึกษาเพื่อลดการติดเชื้อโควิด 19 จะพบเหตุการณ์การจมน้ำในกลุ่มวัยเรียนสูง
และมักจะจมน้ำตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป โดยเกิดเหตุในแหล่งน้ำที่ขุดขึ้นมาเพื่อใช้ในการเกษตร ล่าสุดเกิดขึ้น ที่จังหวัดชัยภูมิ มีเด็กวัยเรียนจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันถึง 3 ราย
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงที่สถานศึกษาหลายแห่งปิด เพราะสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝน จึงขอเตือนผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังไม่ให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำตามลำพัง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยและป้องกันเด็กจมน้ำ ดังนี้
1.ไม่ให้เด็กลงเล่นน้ำแม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคย เพราะระดับน้ำ ความแรงของน้ำ และพื้นใต้น้ำ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
2.อย่าเดินหรือวิ่งเล่นใกล้ขอบบ่อ เพราะในช่วงฤดูฝนพื้นบริเวณขอบบ่อนิ่มและมีหญ้าปกคลุม อาจเกิดการลื่นไถลลงไปในน้ำ
3.ขอให้ชุมชนช่วยกันสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง และเฝ้าระวังป้องกันการจมน้ำ จัดทำป้ายเตือน หรือแนวกั้นขอบบ่อไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ ที่หาได้ง่ายไว้บริเวณแหล่งน้ำ และ
4.ใช้เสื้อชูชีพ เสื้อพยุงตัว หรืออุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย เช่น แกลลอนพลาสติกคล้องเชือกสะพายแล่งให้เด็กติดตัวไว้เสมอ ทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำหรืออยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ควรใช้มาตรการ“ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้
1.ตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669
2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ และ
3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ
สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422