ดีที่สุดคือฉีดเร็วที่สุด – ผักกาดหอม

Development and creation of a coronavirus vaccine COVID-19 .Coronavirus Vaccine concept in hand of doctor blue vaccine jar. Vaccine Concept of fight against coronavirus.

ผักกาดหอม

วันที่วิตกกังวลก็เดินทางมาถึงแล้ว

โควิดสายพันธุ์อินเดียโผล่กลางกรุง

 ติดเชื้อ ๑๕ ราย ที่แคมป์คนงานหลักสี่

ก็คงสรุปได้ว่า จากนี้ไปจากมากกว่า ๑๕ คนแต่จะเป็นเท่าไหร่ ก็ขึ้นกับพฤติกรรมของคนที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมด

ถามว่าน่ากลัวไหม?

            ก็คงตอบว่าน่ากลัว เพราะสายพันธุ์อินเดียเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ดุ ติดแรง ติดเร็ว

            กลัวได้แต่อย่าตื่นตระหนก จนทำอะไรไม่ถูก

            สืบสาวราวเรื่อง ต้นตอคงมาจากแรงงานต่างชาติ 

            โลกไร้พรมแดนครับ สายพันธุ์อินเดียระบาดเป็นวงกว้างแล้ว

            ฉะนั้น ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย

            เห็นแชร์กันในโลกออนไลน์ถึงความน่ากลัวของ โควิดสายพันธุ์อินเดีย

            อินเดียประเทศต้นกำเนิด ตายเป็นใบไม้ร่วงวันละ  ๔,๐๐๐ เผาศพไม่ทัน ต้องทิ้งลงแม่น้ำ

            ประเทศรอบข้าง เช่น เนปาล ศรีลังกา มัลดีฟส์ หมู่เกาะเซเชลส์ ในมหาสมุทรอินเดีย ระบาด ติดและตายเป็นสถิติใหม่

            ทั้งนี้ประเทศเหล่านี้เคยเป็นระดับแชมป์ในการควบคุม  Wave ก่อนๆ

            เนปาล เคยตายมากที่สุดวันละ ๔๒ สองสามวันก่อนทำสถิติใหม่ที่ ๒๔๖ ศพ

            หมู่เกาะเซเชลส์ ฉีดวัคซีนไปมากที่สุดในโลกยังเอาไม่อยู่ 

            มัลดีฟส์ที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว ๓ แสนคนจากประชากรกว่า ๕ แสนคนก็เอาไม่อยู่ ติดเชื้อเพิ่มวันละ ๒  พันกว่าคน

            ระบาดที่อังกฤษ

            ระบาดที่สิงคโปร์

            ระบาดที่เมียนมา

            ระบาดที่กัมพูชา

            ระบาดที่มาเลเซีย

            ราเจนดรา คาปิลา ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อแห่งมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐฯ เชื้อสายอินเดีย ฉีด Pfizer ครบ ๒ โดสแล้ว กลับติดเชื้อและเสียชีวิตที่อินเดีย

            ชาวสิงคโปร์ฉีด Pfizer ครบ ๒ โดสแล้วกลับติดเชื้ออีกครั้ง

            การตรวจจับสายพันธุ์อินเดียอาจไม่แม่นยำเพราะ เชื้อชอบลงลึกในปอด แยงจมูกไม่เจอ

            กระบวนการตรวจ พีซีอาร์ อาจจับได้ไม่หมด เพราะรหัสพันธุกรรมเพี้ยน

            ถ้าปล่อยให้มีการระบาดลามไปเรื่อยๆ แม้ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เชื้อก็กลายพันธุ์เอง อย่ายอมให้มีสายพันธุ์ไทยเกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชม จะกลายเป็นความล้มเหลวของการควบคุมการระบาด

            นั่นคือแง่มุมที่น่ากลัว และเตือนสติว่าเราต้องระวัง

            ขณะที่ความคาดหวังของประเทศไทยมีวัคซีนหลักคือ แอสตร้าเซนเนก้า

            แต่ก็มีข่าวดีอยู่บ้าง           

            ผลการศึกษาโดยโรงพยาบาลอินทราปรัสถ์อพอลโล  (Indraprastha Apollo) ณ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย พบว่า จากกลุ่มเป้าหมายกว่า ๓,๓๐๐ คนในอินเดีย มีเพียงผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-๑๙ ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง ๒ คน

            สะท้อนให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด ของแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผลสูงถึง ๙๗% ในการต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย

            โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมการศึกษาในครั้งนี้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ของแอสตร้าเซนเนก้าและเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขทั้งหมด

            ผลการวิจัยดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าอัตราการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสืบเนื่องมาจากโควิด-๑๙ มีอัตราต่ำกว่า ๑%

            รายงานอีกชิ้นรวบรวมโดยเครือข่ายโรงพยาบาลแมกซ์เฮลธ์แคร์ สำรวจลูกจ้างในเครือกว่า ๑๔,๐๐๐ คนทั่วอินเดียที่ได้รับวัคซีนครบแล้วในโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่  ๑๖ มกราคม

            พบว่า มีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วยังคงติดไวรัสนี้ในสัดส่วน ๖ คนจาก ๑๐๐ คน หรือ ๖%

            และจนถึงขณะนี้พบผู้ที่ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนครบ ๒ โดสเพียงรายเดียว

            สิ่งที่โดดเด่นจากข้อมูลของเครือข่ายโรงพยาบาลแห่งนี้ก็คือ ๙๐% ของผู้ที่ติดเชื้อหลังรับวัคซีนครบนั้น มีอาการไม่รุนแรง มีเพียง ๑๐% ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล

            และทั้งหมดหายดีแล้ว 

            ยกเว้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสเพียงคนเดียวที่่ป่วยหนักเข้าไอซียูและเสียชีวิต

            สิ่งนี้พิสูจน์ว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพและลดอัตราการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงความรุนแรงของโรค

            จะเชื่อหมอหรือหมา ก็เชิญตามสะดวก          

            ไม่เฉพาะที่อินเดีย วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า พิสูจน์ตัวเองที่อังกฤษมาแล้ว

            อังกฤษใช้เป็นวัคซีนหลัก ฉีดแล้วค่อนประเทศ

            วันนี้อังกฤษอยู่ในสถานะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้ว

            และเตรียมเปิดประเทศ

            อีกข่าวดีในข่าวร้ายจากปากหมอโอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค

                “…มีข้อมูลจากประเทศอังกฤษ Public Health England  พบว่า สายพันธุ์นี้ การแพร่กระจายไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษ

                แปลว่า สายพันธุ์อังกฤษกับสายพันธุ์อินเดีย การแพร่กระจายเชื้อไม่แตกต่างกัน ส่วนความรุนแรงของโรคยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์อินเดียมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษ

                และเรื่องการดื้อวัคซีนพบว่า สายพันธุ์อินเดียยังไม่ดื้อต่อวัคซีน

                โดยเฉพาะยี่ห้อหลักที่ประเทศไทยนำเข้ามาใช้อยู่ คือ แอสตร้าเซนเนก้ายังสามารถป้องกันสายพันธุ์อินเดีย

                โดยเห็นได้ว่าที่ประเทศอังกฤษมีการใช้แอสตร้าเซนเนก้า ปรากฏว่าการระบาดลดน้อยลง…”

            ที่เหลือก็คือการฉีดวัคซีนที่จะเริ่มเดือนมิถุนายนครับว่าจะเป็นไปตามแผนหรือไม่

            หรือจะเร็วกว่าแผน

            ถ้าทำได้เร็วกว่าแผน โดยสถานการณ์การระบาดเช่นนี้ จะถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล            

            นับจากนี้เป็นต้นไปอย่าคาดหวังมากนักว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ จะลดลงเหลือร้อยสองร้อย

            ประเทศไทยระบาดรอบ ๓ มาแล้ว เกือบ ๒ เดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ ๒-๔ พันคนต่อวัน ยกเว้นเจอในเรือนจำล็อตใหญ่ ที่ขึ้นไปเกือบหมื่น

            ฉะนั้นสถานการณ์ของไทยหลังจากนี้ อาจคล้ายๆ  อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น ไม่มีทางกลับไปที่ตัวเลขสามหลักแน่นอน

            จนกว่าการฉีดวัคซีนจะครอบคลุมพอให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 

            ๓ เดือนที่ผ่านมา เราฉีดวัคซีนซิโนแวค เป็นหลัก มีแอสตร้าเซนเนก้าล็อตนำเข้าเสริมบ้างเล็กน้อย

            ฉีดไปแล้ว ๒.๕ ล้านเข็ม

            เดือนหน้าถึงคิว แอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนหลัก  ไทม์ไลน์เดิมอยู่ที่ ๖ ล้านโดส ไม่น่าจะได้แล้ว

            ต้องปูพรมเข็มแรก ๑๐ ล้านโดสขึ้นไป

            และเดือนถัดๆ ไป ควรจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

            โดยนัยคือ การฉีดตามไทม์ไลน์เดิมนั้น อาจไม่เข้ากับสถานการณ์ใหม่ที่มีโจทย์อีกแบบ

            เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

            ครับ….วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด.

Written By
More from pp
คปภ. ติวเข้ม “ผู้ไกล่เกลี่ย” ถอดบทเรียนข้อพิพาทด้านประกันภัยจากสถานการณ์โควิด-19
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาผู้ไกล่เกลี่ยและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาทักษะและถอดบทเรียนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย และมอบนโยบายการปฏิบัติงานการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย
Read More
0 replies on “ดีที่สุดคือฉีดเร็วที่สุด – ผักกาดหอม”