คำว่า กิเลสมาร (อ่านว่า กิ -เหฺลด-มาน) มาจากคำว่า กิเลส กับ มาร รวมกัน.
กิเลส คือ คำรวมสำหรับเรียกความรู้สึกหรืออำนาจฝ่ายต่ำของจิตใจซึ่งเป็นแรงผลักดันให้คนสร้างอกุศลกรรมทั้งทางกาย วาจา และใจ เป็นสิ่งที่แปดเปื้อนจิตและทำให้จิตเศร้าหมอง. ส่วน มาร แปลว่า ผู้ฆ่า
พระพุทธศาสนาเปรียบเทียบกิเลสว่าเป็นมาร จึงใช้ว่า กิเลสมาร แปลว่า กิเลสซึ่งเป็นผู้ฆ่า หมายความว่า กิเลสนั้นเป็นเหมือนมารหรือผู้ฆ่าความผ่องใสแห่งจิต ทำให้จิตของบุคคลเศร้าหมอง เป็นอุปสรรคไม่ให้บุคคลเกิดปัญญาคิดหาหนทางที่จะหลุดพ้นจากทุกข์
พระพุทธศาสนามีทัศนะว่า ปุถุชนทั้งหลายล้วนแต่เป็นผู้ที่มีกิเลสมารครอบงำจิต จิตนั้นก็จะหม่นหมอง และผู้เป็นเจ้าของจิตจะเป็นทุกข์ หากกำจัดกิเลสมารออกจากจิตเสียได้เช่นเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลาย จิตจะใสประดุจกระจกที่ปราศจากรอยแปดเปื้อน จิตก็จะอยู่ในภาวะเบิกบานดังที่เรียกเป็นศัพท์ทางพระพุทธศาสนาว่า จิตเกษม (จิด-กะ -เสม)
ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา