รัฐบาลชี้สร้างความเชื่อมั่นวัคซีนที่ไทยนำมาใช้อยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพและคุณภาพ การบริหารจัดการเตียงเพียงพอ รองรับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด -19 หลังช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์
1. สธ. ยืนยันวัคซีนโควิดที่ไทยใช้มีประสิทธิภาพสูง และความปลอดภัย ประชาชนสามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและเพิ่มภูมิคุ้มกันของตัวเองได้ ข้อมูลทางระบาดวิทยาและข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ไทยนำมาใช้ในทั้งแอสตราเซเนกา และซิโนแวค เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ มีการฉีดวัคซีนสะสมรวม 579,305 โดสหรือเข็ม
มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 505,744 คน ในทุกจังหวัดตามเป้าหมายและกำหนดเวลา ขณะนี้ยังมีการจัดหาวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดสซึ่งอยู่ในประเทศไทยแล้ว รอการตรวจทางห้องปฏิบัติการและเอกสาร จะมีการส่งมอบให้กรมควบคุมโรคต่อไป ในระยะถัดไปจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะบุคลากรด่านหน้าให้ได้ 100%
สำหรับวัคซีนหลักที่จะมาถึงไทยในเดือนมิถุนายน ประมาณเดือนละ 6 – 10 ล้านโดส สามารถจะฉีดให้กับประชาชนได้อย่างครบถ้วน
2. สถานการณ์โควิด-19 ในไทย ขณะนี้ เชื่อมโยงกับสถานบันเทิงและนำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่เพื่อนฝูงและชุมชน จำเป็นต้องลดการเคลื่อนที่ของบุคคล ปิดสถานที่เสี่ยง งดกิจกรรมการรวมกลุ่ม โดย สธ. คาดการณ์ฉากทัศน์ในอีก 1 เดือนข้างหน้า หากไม่มีมาตรการใด ๆ จะมีผู้ป่วยติดเชื้อสูงสุดมากกว่า 20,000 คนต่อวัน
กรณีมีมาตรการปิดสถานบันเทิงเสี่ยงในจังหวัด จะมีผู้ป่วยติดเชื้อประมาณ 2,996 คนต่อวัน และกรณีที่มีมาตรการปิดสถานบันเทิงเสี่ยงในจังหวัด เน้นปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล ลดกิจกรรมการรวมตัวกัน เพิ่มมาตรการทำงานที่บ้าน Work From Home สามารถลดผู้ป่วยติดเชื้อจะลดลงมาประมาณ 391 คนต่อวัน
ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุขเน้นการตรวจคัดกรองโรค ควบคุม ติดตาม กำกับ การกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกคน และผู้ป่วยติดเชื้อจะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel เพื่อป้องกันผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนอาจเสียชีวิตได้และกำจัดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อต่อคนในครอบครัวและในชุมชนได้
ทั้งนี้ สำหรับการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดเพื่อกลับมาทำงาน ดังนี้
1) ขอให้เดินทางโดยรถยนต์ แต่หากต้องเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะขอให้ใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง รวมทั้งงดเว้นการรับประทานอาหาร
2) หากสามารถ work from home ที่จังหวัดนั้นๆ ได้ จะช่วยลดการนำเชื้อข้ามพื้นที่จากการเดินทางข้ามจังหวัด
3) หากจำเป็นต้องกลับมา ให้ work from home และกักตนเอง 14 วันโดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปจากจังหวัดเสี่ยง เพื่อดูอาการ
หากผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือที่หมายเลข 1422 สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง หากต้องออกไปในที่สาธารณะ
3. การบริหารจัดการเตียงผู้ป่วย ภาครัฐมีการบริหารจัดการเตียงเพียงพอในการรองรับผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีการจัดเตียงรองรับทั้งจากสถานพยายาลและโรงแรมแบบ Hospitel รวมกว่า 6 พันเตียง รวมทั้ง โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมมีการเตรียมโรงพยาบาลภาคสนาม และกรมการแพทย์เตรียมเปิด Hospitel ซึ่งจะรองรับได้อีก 450 เตียง
และโรงพยาบาลรามาธิบดีเตรียมเปิด Hospitels อีก 2 แห่ง อีก 100 เตียง สำหรับกรุงเทพมหานคร ได้มีการเพิ่มโรงพยาบาลสนาม ที่บางขุนเทียน 500 เตียง ที่บางบอน 200 เตียง และเตรียมเปิดที่บางกอกอารีนา จะรับได้อีก 1000 เตียง
รัฐบาลให้การรับรองโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ขณะนี้มีความปลอดภัย มีจำนวนแพทย์และพยาบาลตามมาตรฐานที่วางไว้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีประสบการณ์การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามตั้งแต่การระบาดระลอกแรก รวมทั้งเตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามตามต่างจัดหวัดไว้แล้ว สำหรับ Hospitel ซึ่งเป็นการจัดบริการในโรงแรม กรมสนับสนุนบริการทางการแพทย์จะเข้าไปรับรองมาตรฐาน เช่นเดียวกับสถานกักกันของรัฐ (SQ/ ASQ) ซึ่งมีการตรวจ ประเมิน และติดตามสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ นโยบายหลักของไทย ผู้ติดเชื้อทุกคนในประเทศจะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น ยกเว้นช่วงการรอเตียง ซึ่งผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน แล้วจะมีกลไกรองรับในการประสานเพื่อไปรับตัวผู้ป่วยในช่วงเวลาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ สามารถติดต่อไปที่สายด่วนจัดหาเตียง เบอร์ 1669 สำหรับต่จังหวัดต่างๆ จะเข้าศูนย์การบริหารจัดการ สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 รับสายเวลา 8.00 – 22.00 น. และสายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชม. หรือผ่าน line แอพลิเคชั่น สบายดีบอต ซึ่งสามารถให้ข้อมูลติดต่อกลับ และจะมีการจัดสรรเตียงที่เหมาะสม