นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจงกรณีที่มีข่าวโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งระบุเกี่ยวกับปัญหาการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องรอให้ อย. อนุญาตการนำเข้า ทั้งที่วัคซีนนั้น ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไปแล้ว โดยเปิดเผยว่า ภาคเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เข้ามาในประเทศ ต้องผ่านกระบวนการ ประกอบด้วย
1. ต้องยื่นเป็นผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร
2. ต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของตน เนื่องจากผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่ตนนำเข้ามา
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดประชุมชี้แจงขั้นตอนการนำเข้า การขึ้นทะเบียน การกระจาย และการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 โดยมีผู้แทนจากภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกลุ่มตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน เข้าร่วมประชุมด้วย
เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ระยะเวลาในการพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ไม่ล่าช้าแต่อย่างใด ซึ่ง อย. ได้เปิดช่องทางพิเศษพร้อมอำนวยสะดวกในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในทุกเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม หากผู้รับอนุญาตส่งเอกสารครบถ้วนตามที่กำหนดจะใช้เวลาในการประเมินและพิจารณาอนุญาตประมาณ 30 วัน
ซึ่งวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจะเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดของโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) จึงต้องมีระบบการกำกับติดตามความปลอดภัยจากการใช้วัคซีน และจะต้องดำเนินการฉีดในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่กรมควบคุมโรคกำหนด
ทั้งนี้ ขอให้ภาคเอกชนมั่นใจว่าภาครัฐไม่ปิดกั้นเอกชนในการนำเข้าและใช้วัคซีนโควิด-19 พร้อมยินดีที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาร่วมกันในการดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งในมิติผู้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนของตนเอง และในฐานะผู้ให้บริการฉีดวัคซีน
หากภาคเอกชนมีข้อสงสัยใด ๆ ในการนำเข้าและขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 สามารถติดต่อสอบถามกับ อย. ได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีโรงพยาบาลเอกชนมายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด