เข้มรับปี64 ! จุรินทร์ดึง 26 หน่วย ทั้งรัฐ-เอกชน-ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดี เซ็นทรัล ทำข้อตกลงป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนออนไลน์

วันที่ 11 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ H.E. Mr. Pirkka Tapiola เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย Mr. Michael Heath ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา 20 หน่วยงาน ผู้แทนผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ต 3 หน่วยงาน แถลงข่าวการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต โดยนายจุรินทร์เป็นประธาน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้การซื้อขายสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2562 มีมูลค่าสูงถึง 4.02 ล้านล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 7% ส่งผลให้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเปลี่ยนรูปแบบจากการละเมิดในรูปแบบเดิมเป็นการละเมิดบนแพลตฟอร์มและอินเทอร์เน็ตมากขึ้นตามไปด้วย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการร่วมกันเพื่อระงับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ
ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ศาลได้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออกจากเว็บไซต์จำนวน 36 คำสั่ง 1,501 URLs และเฉพาะในปี 2562 – 2563 มีการจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต จำนวน 345 คดี ยึดของกลางทั้งหมด 56,349 ชิ้นด้วยกัน
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงแผนงาน 14 แผนงานของกระทรวงในปี 2564 หนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญในด้านทรัพย์สินทางปัญญาประกอบด้วย
1. กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างความตระหนักรู้ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้กับคนไทยทุกคน
2.เร่งรัดการส่งเสริมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในทุกภูมิภาคต่างๆของไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเหล่านั้น ในปีที่ผ่านมาเราสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าในท้องถิ่นจาก 20,000 ล้านบาทเป็น 36,000 ล้านบาทเพราะได้รับการจดทะเบียน GI
3.กระทรวงพาณิชย์จะส่งเสริมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาด้วยการลดเวลาการจดทะเบียนให้สั้นลง
4.ให้ความคุ้มครองเชิงรุกกับทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยที่ถูกละเมิดในต่างประเทศเพราะปัจจุบันคนไทยเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
5.ดำเนินการเดินหน้าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ จะเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ และ
6.กระทรวงพาณิชย์จะเริ่มดำเนินการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ต รวมถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์


และท้ายที่สุดนำมาสู่การแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมในวันนี้ นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น
สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ (USPTO) คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) และกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ติดตามความคืบหน้าการจัดทำ MOU ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) ได้เผยแพร่รายงานการเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Counterfeit and Piracy Watch List) และได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ต ได้มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตร่วมกัน จนนำมาสู่การลงนาม MOU ในวันนี้
“ผมเชื่อมั่นว่าการลงนาม MOU ฉบับนี้จะมีส่วนสำคัญในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ถึงการบูรณาการร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจัง ตลอดจนช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจด้วยการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งจะช่วยพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีสากล โดยผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ต 3 หน่วยงานประกอบด้วย บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด และบริษัท ลาซาด้า จำกัด
นอกจากนี้ ฝากสื่อสารไปยังผู้ลงทุนในประเทศของท่านว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างยิ่งจนกระทั่งนำมาสู่การลงนาม MOU ร่วมกันของทุกฝ่ายในวันนี้และเชื่อมั่นว่าการลงนามในวันนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้รวมไปถึงการบูรณาการร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั้งในส่วนของภาครัฐภาคเอกชนในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังของประเทศไทยซึ่งจะส่งผลให้เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นรวมทั้งช่วยพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความเข้มแข็งส่งผลเชิงบวกในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปด้วยในเวทีสากล” นายจุรินทร์ กล่าว
Written By
More from pp
“สาธิต” ร่อนหนังสือ จี้ “จุรินทร์” เอาผิดกลุ่ม 16 สส. ข้อหาเป็นปฏิปักษ์ มีพฤติกรรมทำผิดข้อบังคับพรรคอย่างร้ายแรง
"สาธิต" ทำหนังสือจี้ "จุรินทร์" เอาผิดกลุ่ม 16 สส.ก๊วนเดชอิศม์ ตั้งข้อหา เป็นปฏิปักษ์-มีพฤติกรรมทำผิดข้อบังคับพรรคอย่างร้ายแรง
Read More
0 replies on “เข้มรับปี64 ! จุรินทร์ดึง 26 หน่วย ทั้งรัฐ-เอกชน-ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดี เซ็นทรัล ทำข้อตกลงป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนออนไลน์”