เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิด Kick Off โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ณ ศาลาประชาคมที่ว่าการอำเภอท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งมีนายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นางกัณตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา ส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ
โดยทำการโอนเงินส่วนต่างประกันรายได้ชาวสวนยางพาราปีที่ 2 เข้าระบบบัญชีเงินฝากธนาคาร ธ.ก.ส. ของกลุ่มเกษตรกร ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบทำให้เกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างจะมีทั้งเกษตรกรชาวสวนยางที่ถือบัตรสีเขียวหรือผู้มีเอกสารสิทธิและที่ถือบัตรสีชมพูหรือเกษตรกรกลุ่มด้อยโอกาสที่แจ้งปลูก โดยผู้ถือบัตรสีเขียวมีประมาณ 9.6 แสนราย ส่วนผู้ถือบัตรสีชมพูจะมีประมาณ 3.4 แสนราย รวมแล้วจะมีเกษตรกรชาวสวนยางที่จะได้รับสิทธิเงินส่วนต่างประมาณ 1.3 ล้านรายทั่วประเทศ
ด้วยการประกาศราคาเกณฑ์กลางงวดนี้จะได้รับการชดเชย 2 ชนิดคือยางก้อนถ้วยกับน้ำยางสดเท่านั้น เพราะน้ำยางดิบได้ประโยชน์จากราคายางที่สูงทะลุราคาประกันรายได้ไปแล้ว โดยโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางครอบคลุมเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา 1.8 ล้านครัวเรือน
การยางแห่งประเทศไทย ระบุว่าสำหรับจังหวัดพังงา ข้อมูลโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพังงาพื้นที่สวนยางทั้งหมด 734,430 ไร่ชาวสวนยางขึ้นทะเบียนและแจ้งพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยจำนวน 34,095 รายเนื้อที่สวนยางบัตรสีเขียว 20,694 ราย พื้นที่ 302,904 ไร่ บัตรสีชมพู 13,401 รายพื้นที่ 214,509 ราย
โดยเมื่อปีก่อนเกษตรกรชาวสวนยางได้รับเงินช่วยเหลือไปแล้วจำนวน 20,600 ราย ส่วนปีนี้โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 จ่ายเงินรอบที่หนึ่งในวันที่ 11 ธันวาคม 2563 เกษตรกรพังงาได้รับเงินช่วยเหลือ 16,421 ราย แบ่งเป็นบัตรเขียวจำนวน 13,652 ราย บัตรชมพูจำนวน 4,179 ราย
แต่งวดนี้ชดเชยเฉพาะยางก้อนถ้วยและน้ำยางสดเนื่องจากราคายางแผ่นดิบสูงกว่าราคาประกัน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เกษตรกรชาวสวนยางพาราจะได้รับส่วนต่างพร้อมกันทั่วประเทศ และได้ดำเนินการสำเร็จมาแล้ว 1 ปี ขณะนี้เดินหน้าปีที่ 2 โครงการนี้มีหลักคือถ้าราคายางตกต่ำเกษตรกรจะได้ส่วนต่างมาชดเชย เกษตรกรจะได้เงิน 2 กระเป๋านั่นเอง
และการจ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 หรือประกันรายได้ยางพาราปี 2 สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ทั่วประเทศจะครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่ โดยยึดหลักเกณฑ์เดิมตามโครงการระยะที่ 1 ประกันรายได้ยาง 3 ชนิด คือ
1)ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม
2)น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และ
3)ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม
โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดยางไปแล้วรายละไม่เกิน 25 ไร่ มีสัดส่วนแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของ 60% และคนกรีดยาง 40% ส่วนระยะเวลาโครงการ เดือนกันยายน 2563 – กันยายน 2564
ขอบคุณภาพข่าวจาก ส.ปชส.จ.พังงา
นายพงษ์ศักดิ์ศักดิ์ ประทีป /โกอู๋@ผู้สื่อข่าวอาวุโสจังหวัดพังงา