โรคน้ำกัดเท้า โรคน้ำกัดเล็บ

รศ. พญ. จรัสศรี ฬียาพรรณ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยและ

ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

ในช่วงเวลานี้ของทุก ๆ ปี ทางภาคใต้ของประเทศไทย มักจะเกิดเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงขอนำเรื่องของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ “โรคน้ำกัดเท้าและโรคน้ำกัดเล็บ”  มาฝากกันเพื่อเป็นเคล็ดลับในการป้องกันเมื่อมือและเท้าต้องสัมผัสน้ำเป็นระยะเวลายาวนาน เช่น ในช่วงน้ำท่วม หรือแม้แต่การทำงานบ้าน การล้างมือบ่อย ๆในช่วงที่มีโรคระบาด ทำให้เกิดโรคผิวหนังบริเวณมือเท้าและเล็บได้

โรคน้ำกัดเท้าหรือ ฮ่องกงฟุต คือ โรคที่เกิดจากความอับชื้นจากการสัมผัสน้ำ ทำให้มีการอักเสบที่ผิวหนัง มักพบลักษณะการเปื่อยยุ่ยที่ง่ามนิ้วเท้า หากต้องสัมผัสน้ำเป็นระยะเวลายาวนาน ผิวหนังที่เท้าจะมีการอักเสบ แดง ลอกและคัน ผู้ป่วยบางรายมีการติดเชื้อราที่เท้าหรือง่ามนิ้วเท้าร่วมด้วย  ซึ่งเชื้อราที่พบบ่อยว่าเป็นสาเหตุคือ เชื้อกลากและเชื้อยีสต์แคนดิดา

อาการของโรคน้ำกัดเท้า  ผู้ป่วยจะมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้าและผิวหนังเท้าลอกออกเป็นขุย ๆ  ถ้ามีการติดเชื้อราจะมีลักษณะผื่นเป็นวงหรือหนาตัวขึ้นที่เท้า บางครั้งอาจมีอาการรุนแรง ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพองเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองได้  บริเวณที่พบบ่อยจะเกิดตรงซอกนิ้ว แต่ก็สามารถเกิดที่ฝ่าเท้าได้เช่นกัน  โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเท้าผิดรูป เช่น นิ้วเท้าเก ซึ่งจะส่งผลให้มีการเกยกันของนิ้วเท้า ทำให้มีการให้อับชื้นและติดเชื้อราได้บ่อย ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อราที่เท้าครึ่งหนึ่งมักมีการติดเชื้อราที่เล็บเท้าร่วมด้วย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเล็บที่หนาตัวขึ้นหรือมีสีเล็บที่เปลี่ยนไป นอกจากนั้นผิวหนังอักเสบที่เปื่อยยุ่ยที่ซอกนิ้วเท้า  อาจเป็นทางเข้าของเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังได้ เช่น โรคไฟลามทุ่งหรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ เป็นต้น ซึ่งการวินิจฉัย ของแพทย์ส่วนใหญ่สามารถให้การวินิจฉัยได้จากการดูลักษณะของผื่น  ร่วมกับการขูดที่ผิวหนังเพื่อส่งตรวจหาเชื้อราทางห้องปฏิบัติการ 

การรักษาโรคน้ำกัดเท้า  ได้แก่

การรักษาที่สำคัญคือการรักษาสุขอนามัยของเท้า โดยควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง โดยเน้นการเช็ดตามซอกนิ้ว ร่วมกับการโรยแป้ง  การใส่ถุงเท้าที่สะอาดและไม่เปียกชื้น ควรใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่แห้ง ใส่ถุงเท้าที่ทำด้วยขนสัตว์ดีกว่าผ้าฝ้ายเพราะผ้าขนสัตว์ช่วยซับความชื้นจากเท้า ถ้ารองเท้าเปียกควรเปลี่ยนรองเท้า ควรมีรองเท้า 2 คู่ ใส่สลับกัน ไม่ควรใส่รองเท้าคู่เดิมที่อับชื้นทุกวัน   หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำบ่อยหรือเป็นระยะเวลายาวนาน หากจำเป็นควรใส่รองเท้าบูท และรีบเช็ดเท้าให้แห้งทันทีหลังสัมผัสน้ำ

การรักษาโรคเชื้อราที่เท้าส่วนใหญ่จะเป็นยาทารักษาเชื้อรา ซึ่งต้องทายานานประมาณ สัปดาห์ ในส่วนของยารับประทานต้านเชื้อราจะพิจารณาในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่เล็บหรือติดเชื้อที่ผิวหนังส่วนอื่นเป็นบริเวณกว้างร่วมด้วย  หากมีการติดเชื้อราร่วมด้วย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หรือเสื้อผ้า และเมื่อไปตามที่สาธารณะ เช่น ห้องอาบน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ ควรใส่รองเท้าแตะเพื่อป้องกันการแพร่หรือการติดเชื้อรา  และถ้ามีคนในครอบครัวมีอาการคล้ายกัน ควรพามาพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจและรักษา

โรคน้ำกัดเล็บ เป็นอีกโรคที่พบบ่อยถ้าต้องสัมผัสน้ำ เกิดจากการอักเสบของจมูกเล็บ มักพบในผู้หญิงที่ทำงานบ้าน งานที่ต้องสัมผัสน้ำ รวมถึงการล้างมือบ่อย การสัมผัสน้ำหรือสารเคมีต่าง ๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองที่จมูกเล็บและเนื้อเยื่อด้านข้างเล็บ ส่งผลให้เล็บงอกผิดปกติ และอาจมีการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย


อาการของโรคน้ำกัดเล็บ จมูกเล็บจะมีอาการคัน ลอก เป็นขุย บางครั้งทำให้จมูกเล็บหลุดออก มีอาการบวมแดง อักเสบ ที่จมูกเล็บ หากเป็นมากอาจทำให้เล็บที่งอกออกมาผิดปกติ มีลักษณะเป็นลอนคลื่น ร่อนหรือผิดรูป หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยอาจทำให้เล็บเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวหรือมีหนองที่ใต้จมูกเล็บ หรือหากมีการติดเชื้อราแคนดิดาอาจพบภาวะเล็บหนาหรือมีสีที่เปลี่ยนไป ร่วมถึงอาจมีผื่นขุยยุ่ยที่จมูกเล็บหรือซอกนิ้วมือร่วมด้วย  การวินิจฉัยของแพทย์ส่วนใหญ่ จะวินิจฉัยจากการดูลักษณะของผื่นร่วมกับการขูดที่ผิวหนัง และนำส่งตรวจหาเชื้อราและแบคทีเรียทางห้องปฏิบัติการ

การรักษาโรคน้ำกัดเล็บ ได้แก่ การรักษาที่สำคัญคือการรักษาสุขอนามัยของมือและเล็บ โดยควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดให้ แห้ง โดยเน้นการเช็ดตามซอกนิ้วและร่องเล็บ การตัดเล็บเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรตัดเล็บสั้นมากเกินไป ไม่ควรตัดจมูกเล็บและหลีกเลี่ยงการแคะแซะเล็บและจมูกเล็บ หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่บ่อยเกินจำเป็น หากต้องทำงานบ้านหรืองานที่สัมผัสน้ำควรสวมถุงมือยางป้องกันเสมอ หากตรวจพบการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราร่วมด้วย แพทย์จะพิจารณายาต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราตามที่ตรวจพบ โดยอาจเริ่มเป็นยาทาก่อน ในส่วนของยารับประทานต้านเชื้อราและแบคทีเรียจะพิจารณาในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อรุนแรงหรือมีการติดเชื้อราที่เล็บร่วมด้วย

      

Written By
More from pp
‘สุชาติ ชมกลิ่น’ เผย ส่งตัวล่ามจากซาอุฯ ถึงไทยแล้ว ร่วมส่งกำลังใจให้หายป่วยเร็ววัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย สนร.ริยาด ประสาน สอท.ริยาด ส่งตัวล่ามประจำสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย กลับมารักษาตัวที่ไทยแล้ว ร่วมส่งกำลังใจให้หายป่วยโดยเร็ว
Read More
0 replies on “โรคน้ำกัดเท้า โรคน้ำกัดเล็บ”