ในยุคแห่งเทคโนโลยี CLOUD AI และ 5G มีบทบาทสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำพาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและดึงศักยภาพของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะภาคการศึกษา อันจะเป็นปัจจัยที่ช่วยยกระดับความสามารถและสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันทุกมิติบนเวทีโลก รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาและนักวิจัยมุ่งไปสู่โลกแห่งนวัตกรรม
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาครั้งสำคัญของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในโครงการ Huawei ICT Academy สร้างความร่วมมือทางการศึกษายุคดิจิทัล เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Mr. Jason Peng, Vice President of Huawei Technologies (Thailand) Co., Ltd. ร่วมลงนาม
และมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมหารือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ร่วมขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เพื่อการศึกษา สู่ Digital Transformation ตลอดจนแนวทางพัฒนาความร่วมมือโครงการ Huawei ASEAN Academy ในอนาคต
ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมทักษะองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอน ในการสนับสนุนหลักสูตรอบรมด้านเทคโนโลยีจากบริษัท หัวเว่ย หลายหลักสูตร อาทิ อุปกรณ์โครงข่ายสื่อสาร ระบบคลาวด์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ
ตลอดจนนักศึกษาจะได้รับการสนับสนุนสิทธิ์เข้าสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสมัครเข้าทำงานในองค์กรที่ใช้อุปกรณ์โครงข่ายสื่อสารของบริษัทหัวเว่ยที่รับคนเข้าทำงานจำนวนมาก และในอนาคตจะมีโครงการรับสมัครนักศึกษาไปฝึกงานและสหกิจศึกษากับบริษัทหัวเว่ย ในโอกาสการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันดังกล่าว บริษัทหัวเว่ยได้มอบกระดานอัจฉริยะและชุดอุปกรณ์เชื่อมต่อโครงข่ายสื่อสารให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปอีกด้วย
จากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงสานต่อและดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี ได้นำคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมโซลูชันและการเรียนรู้ (Customer Solution Innovation and Integration Experience Center – CSIC) ณ สำนักใหญ่ของบริษัทประจำประเทศไทย
โดยศูนย์ฯ ดังกล่าวเป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการการเรียนรู้เชิงนวัตกรรมระดับโลกอันทันสมัย ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้สัมผัสประสบการณ์ รวมถึงออกแบบ พัฒนา และสร้างสรรค์โซลูชันและแอปพลิเคชันด้าน ICT โซนจัดแสดงภายในศูนย์ได้รวบรวมตัวอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ
โดยปัจจุบันดำเนินการจัดแสดงนวัตกรรมและองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี 5G เนื่องจากเทคโนโลยี 5G เป็นกุญแจสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรมให้เป็นดิจิทัล เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลและการสร้าง 5G อีโคซิสเต็มอย่างสมบูรณ์แบบ รวมถึงสร้างการเติบโตทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย
นอกจากนี้ ในโอกาสดังกล่าว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เดินทางไปเยี่ยมชม ศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC) ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าว จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพัฒนาระบบนิเวศและทดสอบนวัตกรรมดิจิทัล รวมทั้งเป็นศูนย์กลางให้ผู้พัฒนาจากอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนและพัฒนานวัตกรรม 5G ตลอดจนเป็นสถานที่ในการศึกษาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
ความร่วมมือของ มช. กับ หัวเว่ย ในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะนำเอาความทันสมัยของเทคโนโลยี 5G มาร่วมพัฒนาการศึกษา เพื่อรองรับการเติบโตของโลกยุคดิจิทัลในอนาคตต่อไป