รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายกรมการแพทย์ “New Normal Medical Care การแพทย์ก้าวหน้า” ผู้ป่วยมะเร็งรักษาทุกที่ในโรงพยาบาลที่พร้อม เริ่ม 1 มกราคม 2564
ได้รับการรักษาเร็ว ลดการเสียชีวิต เตรียมแผนรับมือโควิด 19 เมื่อเปิดประเทศ การบำบัดรักษายาเสพติด การดูแลสุขภาพพระภิกษุอาพาธ กัญชาทางการแพทย์
11 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงแรมเครสโก จังหวัดบุรีรัมย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดการสัมมนาเชิงวิชาการ “นโยบายการแพทย์ก้าวหน้า กรมการแพทย์ ปีงบประมาณ 2564” เพื่อสื่อสารนโยบายกระทรวงสาธารณสุขและการแพทย์ก้าวหน้าไปสู่การปฏิบัติ โดยมีอธิบดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1-13 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และผู้บริหารกรมการแพทย์ ร่วมสัมมนา 300 คน
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบาย New Normal Medical Care การแพทย์ก้าวหน้า เพื่อให้ผู้รับบริการและบุคลากรการแพทย์ปลอดภัย ลดแออัด ลดเหลื่อมล้ำ ใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ
1.การเตรียมความพร้อมในการรองรับโรคโควิด 19 เมื่อเปิดประเทศ ทั้งระบบบริการแบบ New Normal มาตรการภาครัฐและการป้องกันส่วนบุคคล
2.มะเร็งรักษาทุกที่ พัฒนารูปแบบการรักษาและระบบบริการผู้ป่วยโรคมะเร็ง ให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลทุกที่ที่มีความพร้อม ลดระยะเวลารอคิว ได้รับการรักษาเร็วขึ้น ลดการเสียชีวิต เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564
3.การบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนและครอบครัว บูรณาการทุกภาคส่วนในการดูแล บำบัด รักษา ฟื้นฟู
4.การดูแลสุขภาพพระภิกษุอาพาธ จัดตั้งกองทุนอุปัฏฐากพระภิกษุอาพาธทั่วประเทศมอบให้กับทุกเขตสุขภาพ และ5.กัญชาทางการแพทย์ เพิ่มการเข้าถึง ส่งเสริมการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ และสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรทางการแพทย์นำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษา
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการจัดบริการรักษาโรคมะเร็งทุกที่ในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม กรมการแพทย์ได้พัฒนา 4 โปรแกรมขึ้นมารองรับ ได้แก่
1.โปรแกรมฐานข้อมูลทะเบียนมะเร็ง Thai Cancer Based (TCB) ที่ต่อยอดเป็น TCB Plus เพื่อให้ใช้ลงทะเบียนและรับส่งต่อผู้ป่วย
2.The One Program เพื่อใช้บริหารจัดการคิวในการตรวจทางรังสีวินิจฉัย และการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัด โดยผู้ป่วยมะเร็งสามารถเลือกประเภทการตรวจหรือรักษา เช่น การทำ MRI, แมมโมแกรม, ซีทีสแกน เป็นต้น ซึ่งแต่ละบริการจะระบุจำนวนโรงพยาบาลที่มีความพร้อมให้บริการ เมื่อเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการแล้ว สามารถเลือกวันและเวลาที่ผู้ป่วยสะดวกได้ ซึ่งจะมีตารางให้เห็นว่า รอบบริการไหนที่มีคิวเต็มแล้วหรือยังว่างอยู่ เปรียบเสมือนการชมภาพยนตร์ที่สามารถเลือกภาพยนตร์ที่ชอบ เลือกโรงหนัง เลือกรอบเวลาและที่นั่งตามสะดวก
3.โปรแกรม DMS bed Monitoring เพื่อใช้บริหารจัดการเตียง และ
4.แอปพลิเคชัน DMS Telemedicine ที่ใช้นัดคิวเพื่อรับการปรึกษาทางไกล (Tele-Consult) กับแพทย์ได้ ขอนัดรับยา ติดตามการรับยาทางไปรษณีย์ เป็นต้น