กระทรวงแรงงาน หารือ กระทรวงสาธารณสุข เร่งปรับขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ตามมติครม.วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ในขั้นตอนการตรวจสุขภาพ โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องนัดหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19
ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของสาธารณสุข และซื้อประกันสุขภาพ 2 ปี เมื่อตรวจพบโรคสามารถรับการรักษาตามสิทธิทันที
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาล และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในชีวิตของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยเช่นเดียวกับประชาชนคนไทย
กำชับกระทรวงแรงงานบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการรองรับแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจคัดกรองเชิงรุก และแรงงานต่างด้าวที่ต้องการทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรไทย ป้องกันการเป็นภาระนายจ้าง และถูกทิ้งหากตรวจพบโควิด-19 โดยไม่มีค่ารักษาพยาบาล
“นายจ้าง/สถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว สามารถนำแรงงานต่างด้าวในความดูแล เข้าตรวจคัดกรองโควิด – 19 ณ สถานพยาบาลที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศเป็นห้องปฏิบัติการ เครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 โดยขณะนี้มีห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ
มีจำนวนทั้งสิ้น 260 แห่ง กรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 96 แห่ง แบ่งเป็น ภาครัฐ 39 แห่ง เอกชน 57 แห่ง ในต่างจังหวัด 164 แห่ง แบ่งเป็นภาครัฐ 132 แห่ง เอกชน 32 แห่ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เพื่อให้การดูแลด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในชีวิตของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเป็นไปด้วยดีตามนโยบายรัฐบาล กรมการจัดหางาน จึงปรับขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ในส่วนการดำเนินการตรวจสุขภาพ ซื้อประกันสุขภาพ และตรวจคัดกรองโควิด – 19 และดำเนินการดังนี้
ให้คนต่างด้าวทั้งที่มีนายจ้าง และยังไม่มีนายจ้างที่ยื่นบัญชีรายชื่อฯแล้ว ใช้บัญชีรายชื่อฯที่พิมพ์จากระบบออนไลน์เป็นหลักฐาน เพื่อนัดหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 พร้อมซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี มีค่าใช้จ่าย 3,200 บาท และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ทั้งนี้หากมีเหตุให้ไม่สามารถตรวจโรคต้องห้ามได้ทันพร้อมกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด – 19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ให้ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่เกินวันที่ 18 ตุลาคม 2564 พร้อมทั้งดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการตรวจโรคโควิด – 19 เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 และส่งข้อมูลให้กรมการจัดหางาน ออกใบอนุญาตทำงาน
เมื่อคนต่างด้าวได้รับการรับรองผลว่าไม่เป็นโรคโควิด – 19 และผ่านการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ดังกล่าวแล้ว กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้าง ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวในระบบออนไลน์ https://e-workpermit.doe.go.th ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 และคนต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติและรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ ที่กรมการปกครองหรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564
ส่วนคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง ให้ไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร.38/1) ตามวิธีการที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เมื่อมีนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ประสงค์จะรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงาน ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ ที่กรมการปกครองหรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
“สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบสถานพยาบาลที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1010 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิด-19 ของแต่ละโรงพยาบาล อาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดตรวจเช็กกับทางโรงพยาบาลอีกครั้งก่อนใช้บริการ
กรณีสอบถามขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว