27 ตุลาคม 2563 เวลา 09.15 น. ที่ อาคารรัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในข้อเสนอ 2 เรื่องที่ได้อภิปรายไว้ในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ว่า
เรื่องแรก คือเรื่องที่ให้ตั้งกรรมการ 7 ฝ่ายขึ้นเพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ ประกอบด้วยทั้งในส่วนของผู้แทนของรัฐบาล ผู้แทน ส.ส.รัฐบาล ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน ผู้แทนสมาชิกวุฒิสภา ผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ผู้ไม่เห็นพ้องกับความเห็นของผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ เหล่านี้เป็นต้น
ถือว่ามาถึงนาทีนี้เท่าที่ได้ติดตามและพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ แล้วถือว่ามีสัญญาณที่ดี มีเสียงตอบรับที่เป็นที่ยอมรับพอสมควร อย่างน้อยที่สุดในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้พูดคุยกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคชาติไทยพัฒนา รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ก็มีสัญญาณตอบรับ
และวันนี้ก็ได้รับแจ้งว่าวิปจะได้มีการหารือกัน ซึ่งตนได้เสนอว่าวิปทั้ง 3 ฝ่ายควรจะได้พูดคุยกัน เพราะมติหรือความเห็นร่วมที่จะออกมาได้นั้นก็ควรจะต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแบบที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความราบรื่น
“หากรัฐสภามีความเห็นร่วมกัน ก็เชื่อว่าท่านประธานรัฐสภาก็คงกรุณาไปดำเนินการในการออกคำสั่ง หรือในส่วนของการกำหนดรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้รัฐสภาได้เป็นที่พึ่งและเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนได้เห็นว่าสามารถที่จะร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศได้”หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ส่วนเรื่องที่ 2 คือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้เสนอไปเมื่อวานว่า วิป 3 ฝ่ายควรจะได้ไปหารือกันว่าจะนำร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่างที่ค้างอยู่ในสภามาพิจารณาก่อน หรือจะรอร่างของไอลอว์ ซึ่งเป็นร่างภาคประชาชน แล้วค่อยนำมาพิจารณารวมกันเป็น 6+1 หรือเป็น 7 ร่างนั้น ก็ได้รับแจ้งจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะได้มีการนัดหมายพูดคุยกัน และเหตุผลที่จำเป็นต้องคุยกันก็เพราะว่าจะได้เห็นพ้องไปในทางเดียวกัน
เมื่อได้มีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าจะเอา 6 ร่างมาก่อน แล้วเอาร่าง ไอลอว์ ทีหลัง หรือว่าจะเอามารวมกันเสียทีเดียว เพราะถ้าเอามารวมกันเสียทีเดียวก็คงจะต้องรอหลังวันที่ 12 พ.ย. เพราะต้องรอขั้นตอนกระบวนการก่อนที่จะบรรจุระเบียบวาระ
ซึ่งถ้าหารือร่วมกันทุกฝ่ายและเห็นพ้องกันทุกอย่างจะได้ราบรื่น
“เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหนึ่งในทางออกประเทศที่ผมคิดว่ามาจนถึงนาทีนี้หลายฝ่ายก็เห็นพ้องกันแล้วว่าควรจะได้ดำเนินการต่อไป แต่เมื่อดำเนินการแล้วควรจะราบรื่น ไม่ควรมามีข้อโต้แย้งโดยไม่จำเป็นอีก เพราะฉะนั้นการหารือจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งขณะนี้ก็ได้รับทราบว่าวิปก็จะได้มีการพูดคุยกัน” นายจุรินทร์กล่าว
สำหรับคำถามเรื่ององค์ประกอบสำคัญในการพูดคุย โดยเฉพาะจากฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นอย่างไรนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า คงจะต้องอยู่ที่คำสั่งที่จะออกมาต่อไป ถ้าท่านประธานรัฐสภาเห็นชอบและออกคำสั่งแต่งตั้ง ก็ควรจะมีฝ่ายผู้ชุมนุมเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อให้มีความครบถ้วนทุกฝ่าย และข้อสรุปที่ออกมาจะได้เป็นความเห็นที่ถือว่าได้รับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายได้ครบถ้วนจริงๆ อะไรที่เห็นพ้อง ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบรับไปปฏิบัติ
“หากเป็นหน้าที่รัฐบาล รัฐบาลก็รีบรับไปทำ ถ้าเป็นหน้าที่รัฐสภา รัฐสภาก็รีบรับไปทำ หรือถ้าเป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง คนนั้นก็รีบรับไปทำ อะไรไม่เห็นพ้องก็แขวนไว้ ผมยังยืนยันหลักเดิมเพราะจะบังคับให้คนทั้งประเทศมาเห็นพ้องกันในทุกเรื่องมันเป็นไปไม่ได้ แต่ตรงนี้คือเวทีสำคัญในการที่จะให้ทุกฝ่ายได้เข้าแสดงความคิดเห็น และแสดงความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง เห็นตรงกันก็ทำ ยังเห็นไม่ตรงกันก็คุยกันต่อไป จนกว่าจะมีประเด็นเพิ่มเติมว่าเห็นตรงกันได้ตรงไหนอีก
ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้อย่างน้อยประเทศก็พอมีทางออก หรือเห็นแสงสว่างรำไรอย่างที่ผมอภิปรายไปเมื่อวาน แม้จะไม่ทุกประเด็นก็ตาม ซึ่งมันก็คงยาก ผมเข้าใจได้ว่าจะให้ทุกฝ่ายทุกคนเห็นตรงกันทุกประเด็นนั้นมันเป็นไปไม่ได้ อันนี้เราก็ต้องยอมรับความจริงเบื้องต้น แต่อย่างน้อยอะไรที่เห็นตรงกันก็ได้ทำ ดีกว่าไม่ได้พูดคุยไม่มีเวที” นายจุรินทร์ กล่าว