สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.จังหวัดนครปฐม พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงความบกพร่องของเจ้าหน้าที่อารักขาขบวนเสด็จพระราชดำเนินฯ ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบอย่างน้อยที่สุดคือ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี “วันที่ 19 กันยายน ผู้ชุมนุมประกาศว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม แต่ยังไม่แจ้งสถานที่ พอวันที่ 2 ตุลาคม มีการประกาศแจ้งสถานที่ชุมนุม โดยนัดหมายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม ราชกิจจานุเบกษา ประกาศหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตั้งเปรียญ เนื่องในวันวิสาขบูชา
เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และในวันเดียวกันนั้น ราชกิจจาฯ ก็ได้ประกาศ หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปถวายผ้าพระกฐินที่วัดราชโอรสารามและวัดอรุณราชวราราม เวลา 16.00 น.
ในราชกิจจาฯ ไม่ได้แจ้งเส้นทางเสด็จว่าเริ่มต้น ณ ที่ใด ซึ่งวันที่ 10 ตุลาคม แกนนำบางส่วนที่นัดหมายการชุมนุม ประกาศผ่านเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมว่าจะไม่มีการขัดขวางขบวนเสด็จ และย้ำว่าขอให้ฝ่ายรัฐอย่าสร้างสถานการณ์ ต่อมา ในวันที่ 14 ตุลาคม ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ “หมายกำหนดการฉบับแก้ไขเพิ่มเติม” เปลี่ยนกำหนดเวลา จากเดิมที่ต้องเสด็จไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลา 17.00 น. เป็นเวลา 16.00 น.”
สุทธวรรณ ระบุว่า จากลำดับเวลา จะเห็นได้ว่า ประชาชนและนักศึกษาที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีขบวนเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านถนนราชดำเนิน และยังไม่ทราบว่าจะมีขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ผ่านถนนพิษณุโลกในเย็นวันนั้น แสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมไม่ได้มีเจตนานัดหมายชุมนุมให้กระทบขบวนเสด็จพระราชดำเนิน
“ข้อเท็จจริงในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 คือ กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนออกจากพื้นที่ถนนราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาล ผ่านถนนนครสวรรค์ ตั้งแต่เวลา 14.30 น. เพื่อเลี่ยงไม่ให้การชุมนุมกระทบกับขบวนเสด็จ และผู้ที่มารอรับเสด็จ ซึ่งรวมตัวกันอยู่ตลอดถนนราชดำเนินโดยผู้ชุมนุมออกนอกพื้นที่ถนนราชดำเนิน ก่อนเวลา 16.00 น.ทั้งหมดแล้ว” สุทธวรรณ กล่าว
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร รัฐบาลให้กล่าวอ้างว่า “กลุ่มผู้ชุมนุมมีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล” แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่มีการแจ้งผู้ชุมนุมที่อยู่ในพื้นที่ว่าจะมีการเสด็จพระราชดำเนินผ่านจุดนั้น ทั้งๆที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก็อยู่ด้วย แต่ไม่ได้แจ้งผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวว่าขบวนเสด็จกำลังจะผ่านทางถนนพิษณุโลก
อีกทั้งขบวนเสด็จพระราชดำเนินที่ผ่านไปในพื้นที่ ณเวลานั้น คือขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ซึ่งเสด็จพร้อมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ขบวนเสด็จแทนพระองค์นี้ ต้องมีการถวายการอารักขาด้วยความปลอดภัยในระดับสูงสุด แต่กลับไม่มีการเตรียมพื้นที่ล่วงหน้าตามหลักปฏิบัติในการถวายความปลอดภัย
ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องการจัดเส้นทางขบวนเสด็จ ซึ่งมีจุดหมายปลายทางคือวัดราชโอรสาราม ซึ่งโดยปกติการจัดเส้นทางเสด็จนั้น ต้องมีเส้นทางสำรองไว้เสมอ เช่น เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่ออกกำหนดการมาก่อนหน้านี้ก็จะมีเอกสารชัดเจนว่ามีเส้นทางสำรอง
“การจัดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เหตุใดเจ้าหน้าที่ถวายการอารักขา ถึงตัดสินใจเลือกเส้นทางเสด็จเป็นถนนพิษณุโลก และพาขบวนเสด็จมาในพื้นที่ที่อาจได้รับความไม่สะดวกแทนที่จะเลือกเส้นทางอื่นที่สะดวกมากกว่า ซึ่งมีตัวเลือกทั้งในเส้นทางถนนศรีอยุธยา และถนนหลานหลวง ในเมื่อเจ้าหน้าที่ทราบว่าเส้นทางนี้ไม่สะดวก มีประชาชนชุมนุมอยู่ เหตุใดจึงพามายังเส้นทางนี้ และหากมีปัญหาเกิดขึ้นในขบวนเสด็จฯ จะต้องมีการรายงานชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร แผนถวายความปลอดภัยในครั้งนั้น กำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติไว้อย่างไร เพราะตามหลักปฏิบัติ จะต้องมีการตรวจสอบความเรียบร้อยในเส้นทางก่อนเวลาเสด็จฯ ไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง หากพบปัญหาที่อาจจะกระทบต่อการเสด็จ ก็สามารถประสานงานเพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นทางได้
“ผลสืบเนื่องจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ในการจัดเส้นทางขบวนเสด็จในครั้งนี้ คือ มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และมีการดำเนินคดีประชาชน 3 ราย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และจากเอกสารขอเปิดอภิปรายทั่วไปนี้ ที่นายกรัฐมนตรีแจ้งว่ามีปัญหาอยู่ 3 ข้อ ดิฉันเห็นว่า รัฐบาลจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง ไปจนถึงให้ร้าย ดำเนินคดีกับประชาชน เพื่อปกปิดความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการจัดเส้นทางเสด็จและการถวายความปลอดภัย และโยนความผิดเหล่านั้นมาให้ประชาชน
สิ่งที่เกิดขึ้นในวันถัดมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มีการสั่งย้ายนายตำรวจ 3 นายเป็นการเร่งด่วน ได้แก่ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 และ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน จริงๆแล้วความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่การจัดเส้นทางขบวนเสด็จ จึงเห็นว่าผู้ที่ควรรับผิดชอบในเรื่องนี้ คือ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีมากกว่า เมื่อการจัดเส้นทางเสด็จและการถวายความปลอดภัยมีข้อผิดพลาด นายกรัฐมนตรีจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้”
สุทธวรรณ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า มีความพยายามนำกรณีขบวนเสด็จมาบิดเบือนความจริง ใช้กรณีนี้ปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดชังกัน เผชิญหน้ากันและในวันหนึ่งอาจนำไปสู่การฆ่ากัน ซึ่งไม่อยากให้เหตุการณ์ดำเนินไปถึงจุดนั้น อีกทั้งยังมีความกังวลว่ารัฐบาลเองจะใช้เหตุการณ์ขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มาสร้างเป็นละครแขวนคอภาค 2 อีก เหมือนเมื่อครั้งสมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ออกมารับผิดชอบ และเลิกบิดเบือนความจริง
“การที่รัฐบาลทำเช่นนี้ ไม่ส่งผลดีกับความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชน รัฐบาลควรมีหน้าที่ธำรงสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกฝ่าย ไม่ใช่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาสร้างความเกลียดชังและสร้างความชอบธรรมให้ประชาชนฝ่ายหนึ่งออกมาทำร้ายประชาชนอีกฝ่ายที่เห็นต่าง
‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะผูกขาดความจงรักภักดี และผลักอีกฝ่ายออกไปในตอนนี้ บ้านเมืองกำลังมีปัญหา เราควรหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ธำรงอยู่อย่างสง่างามภายใต้รัฐธรรมนูญ” สุทธวรรณกล่าว