สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังแปลงสาธิตการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด บ้านโคกชุมบก อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
ทรงติดตามการดำเนินงานพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการของเกษตรกร
ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้ามาดำเนินการเป็นสาขาที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่ 3 หมู่บ้าน กว่า 30,000 ไร่ ในการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดให้สามารถทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกร โดยใช้หินปูนฝุ่นปรับปรุงดินจนประสบผลสำเร็จและได้เริ่มฝึกอบรมให้กับเกษตรกร ในปี 2547
ระยะแรก นายเดช มินทการต์ เกษตรกรในพื้นที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ และพัฒนาพื้นที่ของตนในปี 2554 จากพื้นที่ 7 ไร่ ซึ่งเคยรกร้างประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัด มีคุณภาพต่ำไม่สามารถทำการเกษตร ได้พัฒนาและปรับปรุงดินจนสามารถทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกข้าว พืชไร่ และพืชสวน อาทิ อ้อย, มะพร้าวน้ำหอม และแก้วมังกร เลี้ยงปลา และเพาะเห็ด
ปัจจุบันมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวปีละกว่า 70,000 บาท และยังเป็นพื้นที่ต้นแบบสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาเรียนรู้ มีเกษตรกรสนใจทดลองทำในพื้นที่ของตน 6 ครอบครัว กว่า 30 ไร่
ด้านการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติโดยนำน้ำจืดจากคลองมูโนะมาช่วย พร้อมกับการแยกน้ำจืดจากคลองสุไหงปาดีในการปรับปรุงคุณภาพดินและน้ำ นอกจากนี้ยังนำหินปูนฝุ่น และปูนขาวมาปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อปรับความเป็นกรด
โอกาสนี้ พระราชทานเมล็ดพันธุ์ข้าว และเมล็ดพันธุ์ผัก จากโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์สำรอง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในยามวิกฤต แก่ผู้แทนเกษตรกร 5 ราย
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านรอตันบาตู อำเภอเมือง ทรงติดตามผลการดำเนินงานฟาร์มตัวอย่างฯ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของจังหวัด เป็นแหล่งเรียนรู้โดยการปฏิบัติ เป็นแหล่งจ้างงาน และแหล่งศึกษาดูงาน
มีพื้นที่ดำเนินงาน 716 ไร่ แบ่งเป็นส่วนโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งพื้นที่อาศัยและที่ทำกินแก่ราษฎรที่ประสบปัญหาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 150 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 2 ไร่ รวม 338 ไร่ และส่วนพื้นที่ฟาร์มตัวอย่าง 378 ไร่ ที่ดำเนินกิจกรรม 4 ด้าน ได้แก่
ด้านพืชเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ตะไคร้ ผักสลัด กระเจี๊ยบเขียว และถั่วฝักยาวที่ได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ ผลิตผลทางการเกษตรทุกชนิดได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด,
ด้านปศุสัตว์ มีการเลี้ยงแพะ และปลูกหญ้าอาหารแพะ เช่น หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1, หญ้าหวานอิสราเอล, ตลอดจนหญ้า และใบไม้ต่าง ๆ เช่น ข้าวโพดอ่อน ใบมันปู ซึ่งสามารถนำมาเป็นอาหารแพะได้
นอกจากนี้ ยังผลิตอาหารเสริมสูตรต่าง ๆ ให้แพะกิน เพื่อสารอาหารครบถ้วนและลดต้นทุนอาหาร,
ด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการแปรรูปผลผลิต ที่ผ่านมามีประชาชนเข้าไปศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560-2562 มีเกษตรกรเข้าอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรการขยายพันธุ์พืช มะละกอ ฝรั่ง และมะนาว 20,818 คน และศึกษาดูงานเพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตน 60,793 คน
ในการนี้ ทอดพระเนตรโครงการสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติริมแม่น้ำบางนรา และทอดพระเนตรต้นลำพู ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงปลูกเป็นที่ระลึก รวมถึงระบบนิเวศและป่า บนสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. เป็นสะพานปูนยาว 285 เมตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติของระบบนิเวศและพันธุ์ไม้จากป่า 3 ประเภท ได้แก่ ป่าบก ป่าชายเลน และป่าพรุ ซึ่งเป็นแนวเชื่อมต่อของระบบนิเวศที่ต่างกัน และมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
โอกาสนี้ ทรงปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด และปลาพื้นเมือง 9 ชนิด จำนวน 99 ตัว ลงสู่แม่น้ำบางนรา ทั้งนี้ฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านรอตันบาตู ตั้งอยู่ในที่ลุ่มแม่น้ำบางนรา ทำให้พื้นที่อาศัยและพื้นที่ทำกินของฟาร์ม และของสมาชิก ประสบปัญหาน้ำท่วมขังทุกปี ส่วนพื้นที่สูงประสบปัญหาขาดแหล่งน้ำในช่วงหน้าแล้ง
กรมชลประทาน จึงแก้ปัญหาโดยขุดคลองชักน้ำจากแม่น้ำบางนรา ความยาว 400 เมตร และก่อสร้างสถานีสูบน้ำ พร้อมระบบคูส่งน้ำ ยาว 4,955 เมตร เข้าสู่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และพื้นที่กิจกรรมของฟาร์มตัวอย่าง ต่อมาได้ก่อสร้างระบบคูส่งน้ำเพิ่มเติมภายในฟาร์มตัวอย่าง ก่อสร้างถนนทางเข้าโครงการฯ และถนนภายในฟาร์มตัวอย่าง
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ได้ขุดคลองระบายน้ำ และคูระบายน้ำในพื้นที่ฯ ความยาว 5,330 เมตร พร้อมอาคารท่อลอดถนนในระบบระบายน้ำ 10 แห่ง เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางนรา ช่วยลดระยะเวลาน้ำท่วมได้จาก ท่วม 15 วัน เป็น 3-5 วัน
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปลานอาคารแปดเหลี่ยม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นำคณะข้าราชการ และเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลและแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรของจังหวัดนราธิวาส เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลไม้และของดีเมืองนรา อาทิ ลองกองตันหยงมัส รังแข ทุเรียน และสะตอ
จากนั้น ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ วิสาหกิจชุมชนส้มแขกกาลิซา จังหวัดนราธิวาส, กลุ่มผ้าทอบ้านตอหลัง จังหวัดนราธิวาส, วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายกัลยาณิวัฒนา จังหวัดนราธิวาส, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอาหารทะเลเพื่อสุขภาพปัตตานี จังหวัดปัตตานี, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกล้วยหินนังตา จังหวัดยะลา, กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร จังหวัดยะลา และกลุ่มอัลฮามีนบาติก จังหวัดนราธิวาส
ข่าวและภาพจาก