วันนี้ (19 ก.ย.63) เวลา 13:30 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 5 อาคาร 3 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะองคมนตรี ได้แก่ นายพลากร สุวรรณรัฐ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ นายอำพน กิตติอำพน พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง
ร่วมสังเกตการณ์การประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม โดยมี พลอากาศเอก อิทธิศักดิ์ ศรีสังข์ ผู้แทนศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ร่วมประชุม
โอกาสนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทุกจังหวัด ร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า รัฐบาล โดยบกปภ.ช. ได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และคิดปรับแนวทาง แผนเผชิญเหตุทั้งในภาพรวมและเฉพาะเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมสำรวจ รวบรวมความเสียหาย ประมาณการ ต่อยอดเตรียมการสิ่งใหม่ๆ และสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ ซึ่งได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับหน่วยงานด้านพยากรณ์ กรณีผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โนอึล (NOUL)” มาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งจากการคาดการณ์พบว่าพายุดังกล่าวจะมีผลกระทบถึงวันที่ 20 กันยายน 2563 ซึ่งได้มีการสั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมรับมือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยตลอดจนแนวทาง 4 ด้าน คือ
1) แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และกำชับให้ฝ่ายปกครอง และท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา ให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรองรับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ
2) ให้คณะทำงานติดตามสถานการณ์ของจังหวัด ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการแต่ละระดับ และหากมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้อพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยที่จัดเตรียมไว้โดยทันที
3) ให้แบ่งมอบพื้นที่ ภารกิจ หน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจนตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย โดยเตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้ระดมสรรพกำลังเร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ โดยให้ความสำคัญกับการจัดระบบดูแลประชาชนให้มีสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ การแจกจ่ายถุงยังชีพ การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
4) สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล ให้ฝ่ายปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำชับสถานประกอบการ โรงแรมในพื้นที่ เร่งสื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวัง และห้ามลงเล่นน้ำ ในช่วงที่มีคลื่นลมแรง พร้อมประสานหน่วยงานของกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดในการนำเรือเข้าที่กำบังและห้ามการเดินเรือช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด
นายชยพล ธิติศักดิ์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์พบว่าพายุ “โนอึล” ได้ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัยมาตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2563 โดยปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวม 18 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา มุกดาหาร ปราจีนบุรี ตาก นครราชสีมา อุดรธานี ตรัง ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์ รวม 45 อำเภอ 65 ตำบล 86 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ยังไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือและดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
จากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพยากรณ์อากาศ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้รายงานภาพรวมสถานการณ์สภาพอากาศและปริมาณน้ำภายหลังเกิดสถานการณ์ และผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ขอนแก่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด รายงานการดำเนินงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามแผนการเผชิญเหตุ และการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า บกปภ.ช. ยังคงติดตามสถานการณ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในพื้นที่ที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จะมีการเร่งสำรวจความเสียหาย ทั้งด้านชีวิต ทรัพย์สินที่เสียหาย การประกอบอาชีพ สิ่งสาธารณประโยชน์ สถานบริการของรัฐ ระบบสาธารณูปโภค และจะมีการแบ่งมอบภารกิจ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบ ในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ และกำหนดแนวทางการฟื้นฟูร่วมกัน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
นอกจากนี้ จะได้วางแผนการกักเก็บน้ำฝนที่ได้จากสถานการณ์ฯ ในครั้งนี้ ในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการบรรเทาผลกระทบของประชาชนในภาวะน้ำแล้ง จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ร่วมกับคณะทำงานจังหวัด บริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำแล้งต่อไปด้วย และเน้นย้ำ “รัฐบาลจะไม่ทอดทิ้งประชาชน”