ผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ผ่านกล้อง แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว 

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยให้การรักษาโรคมะเร็งมีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น ในด้านการผ่าตัดรักษามะเร็งได้มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็ก เพื่อความตรงจุด ความปลอดภัย และลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอีกชนิดหนึ่งของมะเร็งที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมการผ่าตัดนี้

ย้อนกลับไปหลายปี การผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งมีแผลยาวขนาดประมาณ 1530 เซนติเมตร ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้เกิดนวัตกรรมการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่  (Laparoscopic Colectomy for Colon Cancer) ที่ให้ผลการรักษาเทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง อีกทั้งแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก อาการเจ็บของแผลหลังผ่าตัดน้อย มีการเสียเลือดระหว่างผ่าตัดลดลง  ลดโอกาสการเกิดผลแทรกซ้อนและการติดเชื้อจากการผ่าตัด รวมทั้งทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้ไวและกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น

นพ.วุฒิ  สุเมธโชติเมธา ศัลยแพทย์โรคมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าในปัจจุบันนี้การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ผ่านกล้องมีการพัฒนาไปมาก โดยข้อดี ของการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ ขนาดของแผลผ่าตัดที่เล็กลงมาก  โดยปกติการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องจะต้องทำการเปิดแผลยาวประมาณ 1530 เซนติเมตร แต่การผ่าตัดผ่านกล้อง แผลจะเปลี่ยนมาเป็นแผลผ่าตัดขนาดเล็ก 35 แผล โดยมี 1 แผลที่ขนาดใหญ่สุดประมาณ 45 ซม. สำหรับใส่กล้องที่ใช้ในการผ่าตัด ส่วนแผลที่เหลือขนาดประมาณ 1 ซม. สำหรับใส่อุปกรณ์ผ่าตัด  ตำแหน่งของแผลที่มีขนาดใหญ่สุดส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณเหนือสะดือแต่ถ้าเป็นการผ่าตัดที่ก้อนมะเร็ง อยู่ค่อนมาทางลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง จะย้ายแผลมาซ่อนอยู่ในบริเวณบิกินีไลน์ช่วยปิดบังรอยแผลเป็นได้ง่ายขึ้น

ข้อดีอีกอย่างที่สำคัญคือการผ่าตัดผ่านการใช้กล้องคือ กล้องที่ใช้จะเป็นชนิดที่มีความละเอียดและความคมชัดสูง สามารถสร้างภาพได้ทั้งแบบ 2 มิติและ 3 มิติ ทำให้เห็นภาพการผ่าตัดได้ชัดเจน การผ่าตัดจึงทำได้อย่างตรงจุด ลดการเกิดอันตรายต่อเส้นเลือด เส้นประสาท และอวัยวะใกล้เคียง สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันหลังการผ่าตัดได้เร็วขึ้น 

นอกจากนี้การผ่าตัดผ่านการใช้กล้องจะทำให้เกิดพังผืดในช่องท้องน้อยกว่าด้วย  ซึ่งประเด็นนี้มีความสำคัญ ถ้าในอนาคตคนไข้จะได้รับการผ่าตัดช่องท้อง การมีพังผืดน้อยจะช่วยทำให้การผ่าตัดครั้งต่อไปทำได้ง่ายขึ้น และโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัดแบบนี้ก็ยังมีข้อจำกัด คือถ้ามะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็ง เช่น มีเลือดออกในช่องท้อง หรือมีภาวะลำไส้อุดตัน ควรใช้การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องจะปลอดภัยต่อคนไข้มากกว่า ทั้งนี้การเลือกวิธีผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศัลยแพทย์และสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย  


การหมั่นสำรวจความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและการดูแลสุขภาพยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความใส่ใจเป็นอันดับหนึ่ง  “ลำไส้ใหญ่เป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่าย ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย  เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย มีมูกเลือดปนในอุจจาระ ปวดเบ่งช่องท้องมากกว่าปกติ ปวดในตำแหน่งต่างๆ ของช่องท้อง ควรมาพบแพทย์และตรวจเพิ่มเติมทันที” ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้มะเร็งลุกลามแพร่กระจาย การรักษาก็จะทำได้อย่างจำกัดและยากขึ้น โอกาสการรักษาให้หายก็จะลดลง

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่คือ กลุ่มที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง ซึ่งในบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง (colonoscopy) ทุกๆ 510 ปี

สำหรับวิธีที่จะลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สามารถทำได้  คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง พยายามเลี่ยงอาหารไขมันสูง เนื้อแดง อาหารที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานผักและผลไม้ในทุกมื้ออาหาร รวมถึงการพักผ่อนที่เพียงพอในแต่ละวัน ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ 

Written By
More from pp
กรมอนามัย เผยผลตรวจสารประกอบในพลุ ในแหล่งอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ ไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ยังคงเฝ้าระวัง ตรวจซ้ำ คุมเข้มพื้นที่โกดังพลุระเบิด
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจสารประกอบในพลุ ทั้งสารไนเตรต ซัลเฟต ทองแดง สังกะสี เปอร์คลอเรต และแบเรียม
Read More
0 replies on “ผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ผ่านกล้อง แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ”