ครม.อนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อการค้นคว้า วิจัย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ได้เร็วที่สุด
26 สิงหาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือกับ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงกระบวนการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ว่า
นับเป็นความท้าทาย และสิ่งสนับสนุนเพื่อให้การพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ประสบผลสำเร็จและคนไทยเข้าถึงวัคซีน ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบเพื่อการค้นคว้าวิจัยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอของบกลางเพื่อพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศและเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 1,000 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งเพื่อการเตรียมความพร้อมในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี อีกส่วนหนึ่งจะสนับสนุนแก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความคืบหน้ามาระดับหนึ่งแล้ว
“รัฐบาลให้คำยืนยันว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ได้เร็วที่สุดและในจำนวนที่เหมาะสม กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้จัดสรรให้เฉพาะงบประมาณ แต่ได้มอบหมายให้ อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทุ่มเท สนับสนุน ร่วมมือ เรื่องนี้เต็มที่ ถ้าพิสูจน์ชัดเจนว่าวัคซีนปลอดภัย ต้องผ่านเพื่อนำไปสู่การทดลองต่อโดยเร็วที่สุด” นายอนุทินกล่าว
ด้านศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจะนำมาดำเนินงานโครงการพัฒนาวัคซีน mRNA รวมถึงการผลิตวัคซีน 10,000 โด๊ส สำหรับทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 1 – 2 ในกรอบวงเงินจำนวน 400 ล้านบาทนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะให้การทำงานขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ในขณะที่ภาพใหญ่ของโลกมีวัคซีน 7 ชนิดที่เข้าสู่การทดลองระยะที่ 3 คือประเทศจีน อเมริกา อังกฤษ เชื่อว่าอย่างน้อยต้นปีหน้าจะมีวัคซีน 1 ชนิดที่เข้าเส้นชัย จะทำให้ทราบว่าภูมิคุ้มกันของวัคซีนจะต้องสูงระดับใด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับพัฒนาวัคซีนไทย เมื่อทราบระดับภูมิคุ้มกันที่จะทดลองในอาสาสมัครไทยแล้ว คาดว่าจะผลิตในโรงงานของไทยได้ภายในไตรมาส 3 หรือ 4 ปีหน้า คือไบโอเนทเอเชียที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
เมื่อเราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งใช้เวลาประมาณ 9 เดือน ไทยก็จะสามารถผลิตวัคซีนได้เอง ขณะนี้ อยู่ระหว่างการส่งข้อมูลให้อย. ตรวจสอบความปลอดภัย การเสนอคณะกรรมการจริยธรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเตรียมโรงงานสำหรับผลิตวัคซีน 10,000 โด๊ส เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกกรม ห้องปฏิบัติการ
เมื่อกระบวนการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย จึงจะประกาศรับอาสาสมัครทดลองวัคซีน คาดว่าจะประมาณเดือนธันวาคม 2563 โดยจะเร่งในระยะที่ 1 -2 ก่อนคือดูขนาดที่เหมาะสมในคนที่อายุไม่มาก 18 – 55 ปี จำนวน 48 คน เมื่อปลอดภัย จะทดลองในคนอายุ 65 – 75 ปี อีก 48 คน และขนาดที่เหมาะสมสำหรับคนไทย
และจะทดลองในระยะที่ 2 อีก 300 คน ถ้าในต้นปีหน้ามีวัคซีนต่างประเทศที่สำเร็จ ไทยอาจไม่ต้องทดลองในระยะที่ 3 เพราะรู้ว่าภูมิจะต้องสูงเท่าไหร่ หากระยะที่ 2 มีภูมิคุ้มกันเท่ากับวัคซีนที่ต่างประเทศผลิตสำเร็จ อย.อาจรับรอง ให้ผลิตได้ 30 ล้านโด๊ส หรือเท่ากับจำนวนที่โรงงานเราสามารถผลิตได้
“ประเทศไทยทำถูกแล้ว ที่ได้เตรียมตัวทั้งการเตรียมการจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ การต่อรองเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีของวัคซีนเพื่อให้สามารถผลิตในประเทศไทย รวมทั้งการให้ทุนสนับสนุนและส่งเสริมการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ” ศ.นพ.เกียรติกล่าว