เวที สมาร์ทเฮลท์2019 หนุน เทเลเมดิซีน เชื่อยกระดับคุณภาพชีวิตปชช. ด้าน “เศรษฐพงค์” ชี้ระบบที่ดี ต้องพัฒนาบุคลากรหมอร่วมด้วย เชื่อนโยบายรัฐบาลสนับสนุน ดัน “สภาฯ” ปรับกฎหมายให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลง -คุ้มครองหมอ

เมื่อวันที่ 30 กันยายน กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และ สมาคมโทรคมนาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้ด้อยโอกาส ร่วมจัดสัมมนาเทเลเมดิซิน แอนด์ สมาร์เฮลท์ 2019 โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข และด้านดิจิทัลเข้าร่วมเวที

โดย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคภูมิใจไทย ฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล กล่าวบรรยาย เรื่อง 5G พลิกโฉมการให้บริการด้านสาธารณสุข ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตผู้ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้ หรือ สถานพยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์อยู่ห่างไกล ขณะเดียวกันในวิกฤตดังกล่าวพบโอกาสคือการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเชื่อว่าภายใน 5- 10 ปี จะพบความพลิกผันของเทคโนโลยีที่สามารถช่วยเหลือและส่งเสริมการให้บริการทางการแพทย์ได้ เพราะปัจจุบันสมาร์ทโฟนของประชาชนสามารถเก็บข้อมูลด้านสุขภาพไว้ได้อย่างละเอียด ทั้งผลเลือด, ความดันโลหิต เป็นต้น และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มุ่งแก้ปัญหาในปัจจุบันเชื่อว่าจะตอบสนองการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ รวมถึงระบบสาธารณสุขจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้ ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนต้องทำตอนนี้คือ ปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงรวมถึงให้การยอมรับ​

ทั้งนี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ ยังกล่าวในประเด็น เทเลเมดิซีน จุดเปลี่ยนสาธารณสุขไทย ด้วยว่าการเข้ามาของแพทย์ทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ขณะนี้ไม่มีปัญหาด้านการเงินที่ใช้ลงทุน แต่ด้วยความตระหนักถึงการรักษาประชาชนที่มีคุณภาพ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นในฐานะที่ตนเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มองว่ากฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องต้องปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย เช่น การให้ความคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์

“หมอเป็นหัวใจสำคัญของคนไข้ ซึ่งเราให้ความสำคัญ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบอกให้ตระหนักในความสำคัญของบุคลากรมากกว่าเทคโนโลยี ซึ่งผมเชื่อว่าฝ่ายการเมืองและฝ่ายนิติบัญญัติจะให้ความสำคัญเดินไปด้วยกันให้ได้ รวมถึงต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลงเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น โดยนโยบายของรัฐบาลที่ต้องให้ความสำคัญ” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

ขณะที่ นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทเลเมดิซีน คือการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ไม่มีขอบเขตของเวลา หรือสถานที่ โดยเทคโนโลยีสามารถช่วยเรื่องดังกล่าวได้ ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ต้องคำนึงถึงมาตรฐานทางการแพทย์ระหว่างคนไข้ และแพทย์ ทั้งนี้เข้าใจว่าสถานพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ดูแลที่ให้สถานพยาบาลนเป็นไปอย่างมาตรฐาน ส่วนการบริการทางการแพทย์ เช่น สถานบริการทางการแพทย์ ต้องมีการบันทึกเพื่อติดตาม ดังนั้นเทเลเมดิซีนต้องมีการบันทึกข้อมูลเพื่อติดตามเช่นกัน ดังนั้นสถานบริการทางการแพทย์พยายามดำเนินการ แต่กฎหมายหรือระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขยังไม่รับรอง อีกทั้งยังพบความยุ่งยากคือ การบันทึกประวัติผู้ป่วย เช่น กรณีที่กระทรวงสาธารณสุขให้จ่ายยา 4 โรคผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

“ผมเชื่อว่าเทเลเมดิซีน หากได้รับการสนับสนุนด้านแพลตฟอร์มจะช่วยยกระดับการรักษาพยาบาลประชาชนได้ รวมถึงอำนวยความสะดวกในหลายๆ ด้าน เช่น การนัดหมาย, การให้บริการทางแพทย์รวมถึงการวินิจฉัย เช่น ด้านพยาธิแพทย์, ด้านรังสีแพทย์, การผ่าตัดที่ต้องอาศัยหุ่นยนต์ เป็นต้น ทั้งหมดผมคิดว่ากระทรวงต้องออกคำแนะนำว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ โดยการใช้เทเลเมดิซีนต้องเลือกใช้ในมุมที่ประชาชนพอใจ เพื่อให้ระบบสามารถเดินหน้าได้” นพ.อดุลย์ กล่าว

ส่วน ทันตแพทย์หญิงกัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่น Ooca กล่าวว่า การแพทย์ไม่ได้หมายถึงแค่การรักษาเท่านั้น แต่จะมีขั้นตอนวินิจฉัย, การจ่ายยา หรือหาข้อมูลประกอบการวินิจฉัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์ ทั้งนี้การแพทย์ทางไกลมีมานานกว่า 20 ปี ส่วนประเทศไทยพยายามริเริ่ม แต่ระบบอินเตอร์เน็ตไม่มีความพร้อม ดังนั้นระบบแพทย์ผ่านทางไกลยังเป็นขั้นทดลอง ทั้งนี้มีความพยายามให้สังคมที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีชีวิตที่ดีขึ้น จนถึงปัจจุบันพบว่าด้วยความพร้อมของระบบทำให้การพัฒนาการแพทย์ผ่านทางไกลสามารถทำได้ดีขึ้น

ภายหลังงานสัมมนาดังล่าว นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินโครงการการแพทย์ทางไกล ผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ เทเลเมดิซีน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เพื่อพัฒนาศักภาพการให้บริการและการรักษาด้านการสาธารณสุขในพื้นที่ทั่วประเทศว่า จากการดำเนินโครงการดังกล่าวในเฟสแรก เพื่อทดสอบระบบพบความสำเร็จที่เชื่อว่าการดำเนินการด้านสาธารณสุขดังกล่าวจะสามารถทำได้จริง และ เกิดผลสำเร็จ อย่างไรก็ตามการทดสอบระบบดังกล่าวยังพบปัญหาเล็กน้อย และเพื่อเป็นการแก้ปัญหา นายอนุทิน ลงนามแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 32 คน ร่วมเป็นคณะกรรมการสารสนเทศ ด้านสุขภาพ และชีวอนามัย เพื่อทำหน้าที่ติดตามและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้การพัฒนาระบบและดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ผมมั่นใจว่าโครงการนี้ทำได้แน่นอน และสามารถลดความแออัดของสถานพยาบาลที่ประชาชนต้องมุ่งมารักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือศูนย์สุขภาพ นอกจากนั้นมาตรฐานของการรักษาจะสามารถทำให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกันและรักษาโรคได้ นอกจากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน,​ความดัน, หอบหืด และ สุขภาพจิตจะสามารถรับยารักษาจากที่บ้าน ผ่านการลงทะเบียนข้อมูลร้านยาที่ลงทะเบียนไว้กับหน่วยงาน โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถานพยาบาล ซึ่งเป็นระบบที่สามารถใช้ได้จริงและทันทีด้วยด้วยเทคโนโลยีการรักษาในยุค 4.0” นายวัชรพงศ์ กล่าว

ขณะที่ พ.อ.เศรษฐพงค์ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่านายอนุทิน เตรียมเปิดตัวโครงการเทเลเมดิซิน อย่างเป็นทางการในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ภายในสิ่นปีนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถเข้ามาส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนได้ และประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างย่ิง ทั้งนี้จากที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมลงนามกับ กสทช. ผมเชื่อว่าด้านเทคโนโลยีที่สนับสนุนงานดังกล่าวจะทำได้เต็มประสิทธิภาพ ขณะที่บุคลากร ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว นอกจากนั้นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนว่าการรักษาผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง นั้นจะมีมาตรฐานการรักษาเท่ากับการรักษาผ่านมือหมอ

“ในหลายประเทศมีการรักษาด้านการแพทย์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เช่น ประเทศญี่ปุ่น พบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งผมเชื่อว่าเมื่อประเทศไทยได้ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว จะช่วยยกระดับการรักษาพยาบาลและแก้ปัญหาด้านระบบสาธารณสุขที่เคยมีมาในอดีตได้อย่างแน่นอนโดย มุ่งหวังเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนคนไทยให้ดีขั้น” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว.

Written By
More from pp
“พิพัฒน์” ย้ำ ในเวทีรัฐมนตรีอาเซียน แรงงานไทยรุ่นใหม่ มีทักษะ รองรับงานท่องเที่ยว เทคโนโลยี เกษตรอัจฉริยะ พร้อมเป็นเจ้าภาพ ปี 69 ต่อจากสิงคโปร์
31 ตุลาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน...
Read More
0 replies on “เวที สมาร์ทเฮลท์2019 หนุน เทเลเมดิซีน เชื่อยกระดับคุณภาพชีวิตปชช. ด้าน “เศรษฐพงค์” ชี้ระบบที่ดี ต้องพัฒนาบุคลากรหมอร่วมด้วย เชื่อนโยบายรัฐบาลสนับสนุน ดัน “สภาฯ” ปรับกฎหมายให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลง -คุ้มครองหมอ”