รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินหน้าจ้างงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 คลี่คลาย กว่า 40,951 อัตรา
มุ่งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังโรงงานปิดตัวเป็นจำนวนมาก แนะเด็กไทยเลือกเรียนสายอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องตลาดแรงงาน
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับปัญหาการว่างงานที่เกิดกับพี่น้องแรงงานในทุกภาคส่วนของประเทศไทย ซึ่งวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของไทยเป็นอย่างมาก รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ แม้กระทั่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ต้องเผชิญกับสภาวะดังกล่าว
ซึ่งกรมการจัดหางาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งหามาตรการเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้ประชาชนได้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านแรงงานเศรษฐกิจและสังคม
โดยเร่งเตรียมตำแหน่งงานว่าง พร้อมร่วมมือกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง อบรมยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการในการจูงใจนักลงทุนให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมใหม่
“ขณะนี้ สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศได้คลี่คลายลง กรมการจัดหางานมีแนวคิดจะกระตุ้น การจ้างงาน ในพื้นที่ EEC ทันที ซึ่งจะสอดรับการเป็นพื้นที่การลงทุนของรัฐบาล ที่ดึงให้นักลงทุนมาประกอบกิจการเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ในพื้นที่ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยประเภทงานที่ EEC มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
1.แรงงานด้านการผลิตอื่นๆ ; แรงงานทั่วไป 12,706 อัตรา
2.พนักงานรักษาความปลอดภัย 11,437 อัตรา
3.พนักงานบริการอื่นๆ 1,807 อัตรา
4.ช่างอัญมณีและช่างประดิษฐ์เครื่องประดับอื่นๆ 1,186 อัตรา
5.ผู้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ 872 อัตรา
6.ช่างเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้า 826 อัตรา
7.ช่างเทคนิควิศวกรรมโยธา (ก่อสร้าง) 618 อัตรา
8.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่น ๆ 609 อัตรา
9.เจ้าหน้าที่เทคนิคเคมี, ช่างเทคนิค (อินทรีย์เคมี, ยาง, พลาสติก, โพลิเมอร์, สี, กระดาษ, น้ำมัน, เส้นใย, อาหารและเครื่องดื่ม) 604 อัตรา
10.เจ้าหน้าที่การตลาด 516 อัตรา และอื่นๆ (ช่างเทคนิควิศวกรรมเครื่องกลอื่นๆ, แม่บ้านและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ, ช่างเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้า, ฯลฯ) 9,770 อัตรา
โดยแรงงานที่ต้องการในพื้นที่ EEC มีทุกระดับตั้งแต่แรงงานฝีมือ กึ่งฝีมือ และไรฝีมือ ซึ่งมีความต้องการครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงปริญญาตรี ขึ้นไป” นายสุชาติฯ กล่าว
ขณะเดียวกัน กรมการจัดหางานยังได้ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อส่งเสริมฝีมือและผลิตบุคลากรให้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมเช่น ร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) ฝึกอบรม เกี่ยวกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตภาควิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ภาควิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา จำกัด คณะวิศวกรรมศาสตร์เกษมบัณฑิต สถาบันไทย–เยอรมัน บริษัท สยามโตโยต้า แมนูแฟคเจอริ่ง บริษัท ออโตไดแดคติคจำกัด บริษัท พี ซี ทาคาชิม่า ไทยแลนด์ จำกัด และบริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด รวมทั้ง ได้ประชุมหารืออย่างเข้มข้น และลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ เพื่อประโยชน์และพัฒนาศักยภาพแรงงานในอนาคต
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวตอนท้ายว่า เศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกยังอยู่ในระยะการฟื้นฟู ซึ่งมีความจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวของแรงงานเพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว
จากความต้องการแรงงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการเรียนในสายอาชีพเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก และสายงานเหล่านี้ยังสามารถอยู่ได้แม้ในภาวะวิกฤต ดังนั้น เพื่อรองรับต่อภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหาก หันมาเลือกเรียนในสายอาชีพเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และไม่ตกงาน
อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานจะเร่งดำเนินมาตรการให้แรงงานไทยได้บรรจุงาน มีงานทำ รวมทั้งได้พัฒนาทักษะแรงงานด้วย เพื่อให้มีศักยภาพรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อมารองรับเทคโนโลยีใหม่ทั้งด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ต่อไป