พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตามมาตรการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) โครงการเติมน้ำใต้ดิน พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงาน เน้นย้ำ จังหวัดร่วมผู้นำท้องถิ่น เร่งขยายพื้นที่ทำบ่อเติมน้ำใต้ดินช่วยชาวบ้านแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม พร้อมกำกับ ควบคุมการเติมน้ำใต้ดินให้เป็นไปตามหลักวิชาการ
15 ก.ค.63 เวลา 09.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหารระดับสูง ร่วมลงพื้นที่ตรวจราชการกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
พร้อมเยี่ยมชมการสาธิตการขุดเจาะบ่อเติมน้ำใต้ดินแบบบ่อวงคอนกรีต และส่งมอบคู่มือการเติมน้ำใต้ดินแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งได้พบปะพูดคุยกับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ โดยมี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล บรรยายสรุป และผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต้อนรับ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นปัญหาใหญ่และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รัฐบาลได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม รัฐบาลก็ยังต้องคิดค้นเพื่อหาวิธีกักเก็บน้ำฝนให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับกับฤดูแล้งหน้าที่จะมาเยือนในปีต่อไป ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รับมอบหมายร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการ ขับเคลื่อนภารกิจด้านการเติมน้ำใต้ดิน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรูปแบบและวิธีการเติมน้ำใต้ดินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ หลักการเติมน้ำใต้ดินเป็นการนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงน้ำท่วมหลากหรือจากน้ำฝนที่ตกลงมาเติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ เป็นการช่วยธรรมชาติฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาล แก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ช่วยระบายน้ำและลดภาวะน้ำท่วมขัง
ที่สำคัญพื้นที่ที่มีชั้นใต้ดินที่เหมาะสมจะเพิ่มความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีหลักการก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดิน 4 ขั้นตอน คือ การคัดเลือกพื้นที่ การคัดเลือกวิธีการเติมน้ำใต้ดิน การก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดิน และการติดตามและประเมินผล สำหรับแผนงานโครงการเติมน้ำใต้ดินในปีงบประมาณ 2563 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล อยู่ระหว่างดำเนินการมีจำนวนทั้งสิ้น 530 แห่ง ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว จำนวน 300 แห่ง และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม 2563 นี้
พลเอก ประวิตรฯ เปิดเผยว่า มีความยินดีที่ได้มาติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและขอบคุณพี่น้องประชาชน และเกษตรกร ที่มาร่วมงานฯ เนื่องจากพื้นที่ทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นเจ้าภาพหลัก ในการจัดทำโครงการเติมน้ำใต้ดิน ซึ่งการเติมน้ำใต้ดินสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่ที่จะทำการเติมน้ำ
ดังนั้น จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันดูแลและกำชับควบคุมการเติมน้ำใต้ดินให้ทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งให้ระวังสารเจือปน ปุ๋ย สารเคมีต่างๆ และจะต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะนอกจากการเติมน้ำใต้ดินแล้ว รัฐบาลยังมีความเป็นห่วงในเรื่องของการขาดแคลนน้ำทั้งด้านการอุปโภคบริโภค และการเกษตร
โดยรัฐบาล จะเร่งรัดจัดหาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และขอฝากให้ชาวอำเภอบางระกำช่วยกันดูแลทรัพย์สินส่วนรวม และทรัพย์สินของทางราชการ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับทางราชการในการขุดบ่อ เติมน้ำใต้ดิน และช่วยกันใช้ทรัพยากรน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน หรือน้ำบาดาล ต้องใช้อย่างรู้คุณค่า ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ทุกคนมีน้ำอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร ในฤดูแล้งทุกปีต่อไป
หลังจากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น.รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางไปยัง ท่อระบายน้ำคลองแยงมุม ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม เพื่อรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงาน จากอธิบดีกรมชลประทาน ปล่อยพันธ์ุปลา และพบปะผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่