8 มิ.ย.63 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการพัฒนาพรรค และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค แถลงถึงแนวทางการเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อให้มีการตรวจสอบการใช้เงินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า เรามีความห่วงใยต่อ พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพราะเป็นเหมือนเงินก้อนใหญ่ก้อนสุดท้ายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมาอีกครั้ง และจากการติดตามอย่างใกล้ชิดก็ได้เห็นข้อบกพร่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาหรือการฟื้นฟูที่เป็นปัญหา และเมื่อดูกฎหมายจะเห็นว่าไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ หรือให้สภาได้ดูแลการใช้เม็ดเงินกู้ครั้งนี้
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงจะเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ เพื่อให้มีการตรวจสอบการใช้เงินให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และรีสตาร์ทประเทศไทยได้อย่างแท้จริง รวมถึงปราศจากการทุจริต ซึ่งถ้ารัฐบาลมีความจริงใจก็ขอให้รับข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และการตั้งคณะกรรมาธิการในการตรวจสอบการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท จาก พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ โดยฉบับแรก ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ยืมเงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท หลักการคือจะต้องมีการตรวจสอบการใช้เงินโดยฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเสนอให้มีกรรมการผู้สังเกตการณ์ 4 คน โดยมาจากการเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน สามารถเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ฝ่ายละ 2 คน เพื่อไปเป็นกรรมการผู้สังเกตการณ์ ในคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้
ซึ่งกรรมการผู้สังเกตการณ์มีหน้าที่เหมือนกันกับคณะกรรมการกลั่นกรองทุกอย่าง เว้นแต่ไม่มีอำนาจลงมติ เพราะฉะนั้นการลงมติใช้จ่ายเงินทุกอย่างนั้น กรรมการผู้สังเกตการณ์จะเป็นหูเป็นตาในการใช้จ่ายเงินกู้ว่ากู้อะไรมาบ้าง ใช้จ่ายอย่างไร นำไปทำอะไรบ้าง วัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินอย่างไร และผลสัมฤทธิ์อย่างไร เพราะถ้ามีปัญหาก็จะสามารถแจ้งกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ทราบล่วงหน้า
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ 2 จะเป็นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งเดิม พ.ร.ก.นี้จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมอาจจะเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ เช่น หากไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารก็จะไม่มีสิทธิ์ขอสินเชื่อ
ซึ่งเราอยากเปิดโอกาสให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ถูกจำกัดสามารถเข้าถึงเงินจำนวนนี้ได้ด้วย จึงได้กำหนดกรอบและจะส่งรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับนี้ เพื่อให้สภาเอสเอ็มอีให้ความเห็นเพิ่มเติม เพื่อนำไปประกอบและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ตราสารหนี้ จะมีคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อความโปร่งใส จึงได้เสนอให้มีกรรมการผู้สังเกตการณ์ จาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน ฝ่ายละ 2 คน เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ แต่ไม่มีอำนาจลงมติ
นอกจากนั้นแล้วยังจะมีการกำหนดอำนาจในการผ่อนผัน แต่เดิมให้อำนาจในการผ่อนผันไว้กว้างมาก เปิดโอกาสให้คณะกรรมการกำกับกองทุนฯ สามารถผ่อนผันได้โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งการเปิดโอกาสให้ผ่อนผันได้นั้นถ้าจะให้ซื้อ ก็ควรจะให้ซื้อได้ไม่เกินร้อยละ 60 และควรจะขายให้คนทั่วไปให้ได้ก่อน อย่างน้อยๆ ร้อยละ 40 ไม่ใช่รัฐบาลจะคอยรับซื้ออย่างเดียว
“การออก พ.ร.ก. แต่เดิมให้รายงานปีละครั้ง ซึ่งอาจจะช้าไป จึงได้เสนอว่าทุก 3 เดือน จะต้องมีการรายงานการใช้เงินตาม พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับนี้ ให้สภาทราบ และสมาชิกผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา สามารถเข้าชื่อกันเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการกู้เงินและการใช้เงินผ่านประธานสภา ที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ได้” นายพงศ์เทพ กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.โภคิน กล่าวว่า ความประสงค์ของพรรคเพื่อไทย ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว เพื่อต้องการตรวจสอบการใช้เงินกู้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันน้อยที่สุด จึงไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง แต่เป็นประเด็นเรื่องเทคนิค หลังจากเห็นช่องว่างและปัญหาต่างๆ ซึ่งเราพยายามคิดและยกร่างแก้ไขให้ดีที่สุด และหาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ช่วยกันสนับสนุน การใช้เงินกู้ของประเทศก้อนนี้ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกคน