29 พ.ค.2563 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ วาระเรื่องด่วน เพื่อพิจารณา พ.ร.ก. กู้เงิน 3 ฉบับ สำหรับผลกระทบอันเกิดจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมองว่าวาระนี้เป็นวาระสำคัญ ด้วยเหตุผล 2 ประการ
1. พรก.ทั้ง 3 ฉบับนี้ มาจากสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อชีวิต วิถีชีวิตของพี่น้องคนไทยทุกคน
2. พรก. ทั้ง 3 ฉบับนี้ จะเกี่ยวพันถึงหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ลูกหลานของเราจะต้องมาแบกรับภาระที่เกิดขึ้นในอนาคตนี้ด้วย
นายสาทิตย์ ได้ชี้ให้เห็นว่า พรก. ทั้ง 3 ฉบับได้สะท้อนว่า โจทย์ปัญหาประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และการดำเนินการใดๆ ในระยะเวลาที่ผ่านมา 2 เดือน กับที่จะดำเนินการต่อไปนั้นจะเป็นแนวทางที่จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับการทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยเมื่อมองย้อนไปในอดีตระยะ 30 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า ประเทศไทยมีวิกฤติที่จำเป็นต้องกู้เงิน มี 2 ครั้ง คือวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551-2552 ซึ่งเป็นวิกฤติภาคการเงิน แต่วิกฤติครั้งนี้ได้เปลี่ยนโจทย์ กลายเป็นวิกฤติของโรคระบาด
ดังนั้น มาตรการที่รัฐบาลใช้ในระยะต้นจึงจำเป็นและทำถูกต้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์พื้นที่ การให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละพื้นที่กำหนดมาตรการให้สัมพันธ์กับตัวเลขผู้ติดเชื้อ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวพันถึงความมีประสิทธิภาพหรือไม่ของ พรก. นี้ อยู่ตรงที่มาตรการเหล่านี้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดลงโดยสิ้นเชิง การใช้ พรก.กู้เงินจึงต้องเกิดขึ้น
นายสาทิตย์กล่าวว่า แม้จะบอกว่า พรก.กู้เงินจะมีเพียง 1 ตัว คือ พรก. 1 ล้านล้าน ส่วน พรก. ซอฟต์โลน กับ พรก. ดูแลเสถียรภาพภาคการเงินนั้น เป็นเพียงการใช้สภาพคล่อง แต่ความเป็นจริงแล้วใน พรก. ระบุว่า หากเกิดความเสียหายขึ้น กระทรวงการคลังจะต้องชดใช้ความเสียหาย ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีความเกี่ยวพันกับเงินของรัฐ และการจะทำให้ พรก. 1 ล้านล้านมีประสิทธิภาพได้นั้น จะต้องมี 2 ปัจจัยดังนี้
1. จะต้องสัมพันธ์กับมาตรการผ่อนคลายมาตรการ เพราะการจะขยาย หรือไม่ขยาย พรก.ฉุกเฉิน จะส่งผลต่อการให้อำนาจผู้ว่าฯ ในการกำหนดล็อคดาวน์ หรือผ่อนคลายบางพื้นที่ได้ อันส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประชาชนโดยทั่วไป
2. แผนงานในส่วน พรก. 1 ล้านล้าน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยครอบคลุมโครงการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นจำเป็นต้องให้เกิดผลทันที เพราะฉะนั้นตัวชี้วัดแผนงานนี้คือตัวโครงการ
นายสาทิตย์ได้ตั้งข้อสังเกตเชิงเสนอแนะไว้ 3 เรื่อง เพื่อให้การใช้เงินเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส
1. ในบัญชีรายละเอียดโครงการท้าย พรก. มีเพียงกรอบโครงการ แต่ไม่มีการระบุวงเงิน นอกจากนี้เมื่อให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้เสนอโครงการมา ก็ “อย่าให้เป็นโครงการที่จังหวัดฮั้วกับผู้รับเหมา” หรือ “โครงการเก่ามาปัดฝุ่นเขียนให้เข้าเงื่อนไข”
“ประเด็นของผมอันหนึ่งก็คือว่า เมื่อให้แต่ละจังหวัดเสนอมานั้น อย่าให้เป็นโครงการประเภท จังหวัดฮั้วกับผู้รับเหมา หรือเอาโครงการเก่ามาปัดฝุ่นเขียนให้เข้าเงื่อนไข ยิ่งด่วนๆ แบบนี้มันทำง่าย 4 แสนล้าน หารจังหวัดดู 77 จังหวัดๆ ละประมาณ 5 พันกว่าล้าน มหาศาลกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีมากมายนัก”
2. เสนอให้นำภาคประชาสังคมที่ทำเรื่องการติดตามปราบปรามทุจริตมาเป็นกรรมการกลั่นกรองโครงการ ก็จะทำให้การพิจารณาโครงการเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
3. เปิดเผยข้อมูลแต่ละโครงการ โดยจัดทำเป็นเวปไซต์เผยแพร่โครงการของแต่ละจังหวัดให้ประชาชนรับรู้และติดตามได้ว่าแต่ละจังหวัดเสนอโครงการใดบ้าง อนุมัติโครงการใดบ้าง สถานะโครงการเป็นอย่างไร
“ในยุคไทยเข้มแข็ง สมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ มีการทำเว็บไซต์ไทยเข้มแข็ง จะบอกไว้ว่าโครงการที่อนุมัติไปมีกี่โครงการ มีการประมูล มีการเสนอราคาอย่างไร สถานะเป็นอย่างไร”
4. สภาควรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อติดตามการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจาก พรก. กู้เงิน โดยให้กรรมาธิการชุดดังกล่าวมาจากทุกพรรคการเมือง แม้ว่าใน พรก. จะระบุถึงการรายงานต่อสภาเมื่อครบ 60 วัน หลังจากจบปีงบประมาณ แต่คิดว่านานเกินไป และเป็นการรายงานเพียงปีละครั้งเท่านั้น
“สมาชิกในสภานี้หลายคนเสนอให้สภา มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อที่จะทำหน้าที่ติดตามการใช้จ่ายเงินที่เกิดจาก พรก.กู้เงินในฉบับนี้ เช่น อาจจะเน้นไปเรื่อง 4 แสนล้าน ตัวกรรมาธิการชุดนี้มาจากทุกพรรคการเมือง เมื่อกรรมการกลั่นกรอง มีการอนุมัติโครงการใดไป ลงเปิดเผยในเว็บไซต์แล้ว ส่งรายละเอียดต่างๆ กลับมาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ และกรรมาธิการวิสามัญก็จะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณเหล่านั้นเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอีกทางหนึ่งเพื่อรับประกันว่าโครงการทั้งหลายนั้นจะเกิดผลในทางของการสร้างรายได้ ในการแก้ปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างแท้จริง”