จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หลายประเทศต่างเร่งคิดค้นวัคซีน แนวทางการรักษา และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวให้หมดไป ประเทศไทย ณ ขณะนี้ ทุกภาคส่วนต่างตระหนักและดำเนินการเพื่อคิดค้นหาวิธีระงับยับยั้งโรคอุบัติใหม่นี้เช่นกัน
กองทัพบกไทยในฐานะหน่วยงานความมั่นคงของประเทศจึงมีความห่วงใยและตื่นตัวต่อการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกับกองทัพสหรัฐอเมริกา ภายใต้ “สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร หรือ สวพท. หรือ AFRIMS” ที่ก่อตั้งเพื่อวิจัยด้านการแพทย์และแก้ปัญหาโรคระบาดร้ายแรงต่าง ๆ มาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี ร่วมกันคิดค้นหาทางรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2501 โดยความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค ใช้ชื่อว่า หน่วยปฏิบัติการวิจัยอหิวาตกโรค ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียอาคเนย์ (SEATO Cholera Research Laboratory)
จนเมื่อการแพร่ระบาดสงบลง สถาบันดังกล่าวยังคงมีบทบาทในการวิจัยด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (สวพท.) หรือ Armed Forces Research Institute of Medical Sciences (AFRIMS) และเป็นหน่วยขึ้นตรงศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน
แม้การดำเนินงานของ AFRIMS จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา และปฏิบัติงานภายในสถานที่ตั้งเดียวกัน ณ ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ แต่การบังคับบัญชาแยกอิสระต่อกันที่ผ่านมา AFRIMS ประสบความสำเร็จในงานวิจัยหลาย ๆ ด้าน อาทิ งานวิจัยโรคมาลาเรีย ด้านระบาดวิทยา ด้านการใช้ยาป้องกันและรักษา ด้านการพัฒนาวัคซีน และการเฝ้าระวังโรค
อีกทั้งการศึกษาสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาโดยวิธีทางอณูชีวโมเลกุล งานวิจัยไวรัสเอชไอวี ด้านระบาดวิทยา ด้านเชื้อไวรัส และด้านการพัฒนาวัคซีน งานวิจัยโรคสครับไทฟัส ด้านระบาดวิทยา การพัฒนาเทคนิคการตรวจวินิจฉัยโรค และการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค และงานเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
ปัจจุบันทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สำคัญยิ่งที่ AFRIMS ได้เข้ามามีบทบาทในการหาทางแก้ปัญหาโรคดังกล่าว โดยได้ร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถทางห้องปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับมือโรคโควิด-19 ด้วยการพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธีทางอณูชีวโมเลกุล ที่ AFRIMS ฝ่ายไทยพัฒนาขึ้นมาตรวจสารพันธุกรรมของไวรัส โควิด-19 ด้วยเทคนิค Real-time RT-PCR ตามวิธีของ US-CDC
ในการพัฒนาช่วงเริ่มต้น AFRIMS ฝ่ายไทยและฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนกระบวนการ พัฒนาการตรวจโรคโควิด-19 ซึ่งกันและกันจนประสบความสำเร็จสามารถตรวจโรคโควิด-19 ได้ทันท่วงที
ทั้งสองฝ่าย รองรับการระบาดของโรคทั้งในกองทัพบกและประชาชนทั่วไป ในช่วงการระบาดระยะแรกจนถึงปัจจุบัน โดย AFRIMS ฝ่ายไทยเป็นผู้ให้บริการตรวจโรค โควิด-19 ให้แก่กำลังพลและประชาชนทั่วไป ด้วยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองให้เป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจโรค โควิด-19 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกของกองทัพบก
ขณะนี้ AFRIMS ได้ให้บริการตรวจโรคโควิด-19 ให้กับผู้ป่วยต้องสงสัยไปแล้วมากกว่า 3,000 ราย นอกจากการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยวิธีทางอณูชีวโมเลกุลแล้ว จากความพร้อมของห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ของ AFRIMS เช่น ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ห้องปฏิบัติการสัตว์ทดลองที่มีมาตรฐานในระดับสากล
AFRIMS ฝ่ายไทยและสหรัฐอเมริกา ยังร่วมกันศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการถอดรหัสสารพันธุกรรมของไวรัส โควิด-19 ที่พบในคนไทย ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการวิจัยนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาธรรมชาติของเชื้อไวรัส ในแง่ความเชื่อมโยงที่มาที่ไปของผู้ป่วย และความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของโรคกับไวรัสที่กลายพันธุ์จากชนิดหนึ่งเป็นอีกชนิดหนึ่ง
ได้ ศึกษาวิจัยวิธีการตรวจหาภูมิต้านทานของโรคโควิด-19 ที่เหมาะสม ศึกษาระบาดวิทยาของโรคในกำลังพล พัฒนาชุดตรวจโรคชนิดเร็ว และพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค สำหรับนำองค์ความรู้และนวัตกรรมงานวิจัย มาต่อสู้โรคโควิด-19 ให้ครบวงจรต่อไป
นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่แสดงถึงความพยายามของกองทัพบกในการทุ่มเทศักยภาพและสรรพกำลังที่มีอยู่ ในการวิจัยทางการแพทย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นำมาซึ่งความมั่นคงปลอดภัยและปกติสุขของประชาชน