จากกรณีการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งอยู่ในกระบวนการสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาและยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการสรุปสาเหตุของการเกิดโรคระบาด แต่ได้มีข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าม้าลายที่นำเข้าจากต่างประเทศอาจเป็นพาหะในการนำโรคดังกล่าว
กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า ตามอนุสัญญา ได้ตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าม้าลายที่มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2563 ได้แก่ ม้าลายเบอร์เชลล์ (Equus burchelli) และม้าลายควากกา (Equus quagga) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2560 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออก กลุ่มที่ 2 ลำดับที่ 7 และลำดับที่ 8 และมิใช่ สัตว์ป่าบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)
การขอรับใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงการขออนุญาตหรือใบรับรองและการออกใบอนุญาตหรือใบรับรองให้นำเข้า ให้ส่งออกหรือให้นำผ่านซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า พ.ศ. 2558 ออกตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 โดยการพิจารณาอนุญาตต้องพิจารณาตามเอกสารสำเนาใบรับรองสุขภาพสัตว์ (Health certificate)
สำหรับสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่านั้น หรือเอกสารการอนุญาตหรือรับรองว่าอยู่ระหว่างการขออนุญาตส่งออก หรือเอกสารที่อนุญาตของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจรับรองสุขภาพสัตว์ ซึ่งออกโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศที่ส่งออกสัตว์ป่าที่ผู้ขอรับใบอนุญาตนำเข้าสัตว์มีชีวิตแนบมาพร้อมกับคำขอรับใบอนุญาต
โดยผู้ได้รับอนุญาตจะต้องดำเนินการนำเข้าซึ่งสัตว์ป่าผ่านด่านตรวจสัตว์ป่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าได้ดำเนินการตรวจสอบการนำเข้าสัตว์ป่าตามรายการชนิด และจำนวน ที่ระบุในใบอนุญาต พร้อมทั้งตรวจเอกสารใบรับรองสุขภาพสัตว์ที่มาพร้อมกับตัวสัตว์นั้นด้วย
ซึ่งในขั้นตอนการตรวจปล่อยสัตว์ป่ามีชีวิตที่นำเข้ามาบริเวณคลังสินค้าจะมีการตรวจร่วมกัน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมศุลกากร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมปศุสัตว์ และเมื่อผ่านด่านตรวจสัตว์ป่าแล้วผู้ได้รับอนุญาตต้องนำไปสถานกักกันสัตว์ตามที่กรมปศุสัตว์ได้วางระเบียบไว้
สำหรับการเฝ้าระวังการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness :AHS) กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและเก็บตัวอย่างในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาทันทีที่ได้รับรายงานการเกิดโรค และขอความร่วมมือระงับการเคลื่อนย้ายสัตว์จำพวก ยีราฟ ม้า ลา ล่อ ทุกชนิด ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 7 เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งสำรวจข้อมูลประชากรม้าลายที่มีการครอบครองในประเทศ
ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีมาตรการต่าง ๆ ตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดังนี้
1. ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า ที่ไม่พิจารณาอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก
2. ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness :AHS) ฉบับที่ 1
3. ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness :AHS) ฉบับที่ 2
นอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังได้ร่วมเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) และคณะอนุกรรมการวิชาการด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม (African Horse Sickness ) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า และยังคงเข้มงวดในการอนุญาตการนำเข้าส่งออกสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่า ตามที่อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) กำหนดไว้ สำหรับยีราฟและม้าลาย จะยังคงไม่พิจารณาให้นำเข้าในประเทศอยู่ต่อไป