กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจงประเด็น การนำเข้า – ส่งออก สัตว์ป่ามีชีวิต ต้องมีใบรับรองสุขภาพสัตว์จากต้นทางและก่อนปล่อยผ่านด่านต้องตรวจร่วม 3 หน่วยงาน

จากกรณีการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งอยู่ในกระบวนการสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาและยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการสรุปสาเหตุของการเกิดโรคระบาด แต่ได้มีข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าม้าลายที่นำเข้าจากต่างประเทศอาจเป็นพาหะในการนำโรคดังกล่าว

กรมอุทยานแห่งชาติ​ฯ​ โดยกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า ตามอนุสัญญา ได้ตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าม้าลายที่มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2563 ได้แก่ ม้าลายเบอร์เชลล์ (Equus burchelli) และม้าลายควากกา (Equus quagga) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2560 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออก กลุ่มที่ 2 ลำดับที่ 7 และลำดับที่ 8 และมิใช่ สัตว์ป่าบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)

การขอรับใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงการขออนุญาตหรือใบรับรองและการออกใบอนุญาตหรือใบรับรองให้นำเข้า ให้ส่งออกหรือให้นำผ่านซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า พ.ศ. 2558 ออกตามความในมาตรา 5​ วรรคหนึ่ง และมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 โดยการพิจารณาอนุญาตต้องพิจารณาตามเอกสารสำเนาใบรับรองสุขภาพสัตว์ (Health certificate)

สำหรับสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่านั้น หรือเอกสารการอนุญาตหรือรับรองว่าอยู่ระหว่างการขออนุญาตส่งออก หรือเอกสารที่อนุญาตของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจรับรองสุขภาพสัตว์ ซึ่งออกโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศที่ส่งออกสัตว์ป่าที่ผู้ขอรับใบอนุญาตนำเข้าสัตว์มีชีวิตแนบมาพร้อมกับคำขอรับใบอนุญาต

โดยผู้ได้รับอนุญาตจะต้องดำเนินการนำเข้าซึ่งสัตว์ป่าผ่านด่านตรวจสัตว์ป่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าได้ดำเนินการตรวจสอบการนำเข้าสัตว์ป่าตามรายการชนิด และจำนวน ที่ระบุในใบอนุญาต พร้อมทั้งตรวจเอกสารใบรับรองสุขภาพสัตว์ที่มาพร้อมกับตัวสัตว์นั้นด้วย

ซึ่งในขั้นตอนการตรวจปล่อยสัตว์ป่ามีชีวิตที่นำเข้ามาบริเวณคลังสินค้าจะมีการตรวจร่วมกัน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมศุลกากร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมปศุสัตว์ และเมื่อผ่านด่านตรวจสัตว์ป่าแล้วผู้ได้รับอนุญาตต้องนำไปสถานกักกันสัตว์ตามที่กรมปศุสัตว์ได้วางระเบียบไว้

สำหรับการเฝ้าระวังการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness :AHS) กรมอุทยานแห่งชาติ​ฯ​ โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและเก็บตัวอย่างในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาทันทีที่ได้รับรายงานการเกิดโรค และขอความร่วมมือระงับการเคลื่อนย้ายสัตว์จำพวก ยีราฟ ม้า ลา ล่อ ทุกชนิด ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 7​ เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งสำรวจข้อมูลประชากรม้าลายที่มีการครอบครองในประเทศ

ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ​ฯ ได้มีมาตรการต่าง​ ๆ ตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดังนี้

1.​ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า ที่ไม่พิจารณาอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก
2.​ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness :AHS) ฉบับที่ 1
3.​ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness :AHS) ฉบับที่ 2

นอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ​ฯ​ ยังได้ร่วมเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) และคณะอนุกรรมการวิชาการด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม (African Horse Sickness ) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า และยังคงเข้มงวดในการอนุญาตการนำเข้าส่งออกสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่า ตามที่อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) กำหนดไว้ สำหรับยีราฟและม้าลาย จะยังคงไม่พิจารณาให้นำเข้าในประเทศอยู่ต่อไป

Written By
More from pp
กระทรวงเกษตรฯ สืบสานพระราชปณิธานอนุรักษ์ไหมไทยเตรียมจัดงานใหญ่ “ตรานกยูงพระราชทานสืบสานตำนานไหมไทยครั้งที่ 15” ปี 2563
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมหม่อนไหม เตรียมจัดงาน “ตรานกยูงพระราชทานสืบสานตำนานไหมไทยครั้งที่ 15” ประจำปี 2563  อย่างยิ่งใหญ่ภายใต้แนวคิด “1 ทศวรรษกรมหม่อนไหม (10 ...
Read More
0 replies on “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจงประเด็น การนำเข้า – ส่งออก สัตว์ป่ามีชีวิต ต้องมีใบรับรองสุขภาพสัตว์จากต้นทางและก่อนปล่อยผ่านด่านต้องตรวจร่วม 3 หน่วยงาน”