“การบินไทย”ที่ไม่ล้มละลาย

เรื่อง “การบินไทย” นี่ พูดกันเยอะช่วงนี้
ผมขอตีตั๋วฟัง

เพราะมันเหมือนชั้นดิน-ชั้นหินจากสารพัดซากพืช-ซากสัตว์ทับถมเป็นฟอสซิลล้านปี เกินสติปัญญาที่ผมจะคุยอะไรได้แต่ถ้าให้บอกถึงความรู้สึกที่มีต่อการบินไทย ผมพูดได้ ประโยคเดียว
รักเธอเท่าฟ้านะ จุ๊บ..จุ๊บ!

ถ้าถามถึงความเห็น ว่ามีมั้ย มี…สั้นๆ ง่ายๆ คำเดียว
ที่ดินพร้อมสำนักงานใหญ่ ที่ถนนวิภาวดีรังสิตนั่นน่ะ
“ขายไปเหอะ”!

ธุรกิจการบิน พื้นที่ทำธุรกิจหาเงิน-หาทอง อยู่บนท้องฟ้าโน่น คือหากินทางบริการกลางอากาศ
ไม่ใช่หากินจากที่ดินริมถนนตารางวาละเป็นแสนๆ สำนักงานหรูเป็นร้อยล้าน-พันล้าน เป็นส่วนเกินธุรกิจ

ยุค AI เช่าซักฟลอร์ที่ไหนก็ได้กลางกรุง เกินจะพอ!
สำนักงานเช่าครึ่ง-ค่อนโลก ถ้าไม่ขายตั๋วเอง โละไปเถอะ

นั่นมันจิ๊บจ๊อย ประเด็นหลักของการบินไทยวันนี้ มันสาหัสไปถึงขั้นต้องเลือก จะอยู่หรือจะตายแล้ว

ผมฟังนักข่าวถามนายกฯและใครต่อใคร ด้วยคำถามลักษณะว่าการบินไทยขอฟื้นฟูคือการล้มละลาย บอกตรงๆ ค่อนข้างขัดหู
มันคนละเรื่อง-คนละขั้นตอนกัน คนฟังอาจสรุปเหมาว่าการบินไทยจะล้มละลายแล้ว
ซึ่งไม่ใช่และไม่จริง

ใครจะรัก-ไม่รักการบินไทยก็ส่วนหนึ่ง แต่ด้วยมูลค่าสะสมในตัวมันเอง การบินไทย “ไม่ถึงขั้นเจ๊ง” หรอก

เท่าที่ฟัง-อ่านจากท่านผู้รู้ สรุปได้ว่าทางไปของการบินไทยยังมีอยู่
ให้การบินไทยยื่นขอฟื้นฟูตามพรบ.ล้มละลาย สมาร์ทที่สุด คือ “ปิดทางตาย”……
แต่ “เปิดทางเกิดใหม่” เป็นการบินไทย New Normal คู่ไปกับสังคมโลกยุค AI

“สมาร์ท-การบินไทย” อย่างนั้นเลยเชียว!

การขอฟื้นฟู คือการยืนยันว่า “ไม่ล้ม” เพียงแต่ขอพักการชำระหนี้ไว้ก่อน เจ้าหนี้จะมาฟ้องร้องทวงนั่น-ทวงนี่ตอนนี้ไม่ได้
การบินไทยก็ยังคงเป็นไปตามปกติ จะบินไปไหน ก็บินไปเหมือนเดิม!

การล้มละลายนั้น มันต้องอีกหลายขั้นตอนและยาวไกล ขอฟื้นฟูแล้ว เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้ถือหุ้น สหภาพฯ ตกลงกันไม่ได้ ที่สุด
นั่นแหละ ค่อยไปว่ากันถึงเรื่องล้มละลาย ซึ่งมันไม่เกิดขึ้นกับการบินไทยหรอก เชื่อเหอะ

ถ้าไม่มีใครเอาจริงๆ ผมเอาเอง!
เรื่องเทคนิคระดับนี้ ผมก็อยู่ในฐานะหาความรู้เหมือนกัน ฉะนั้น อย่าให้คุยมาก ก็อปปี้ผู้รู้มาศึกษาด้วยกันดีกว่า

เพื่อเป็นการปูพื้นความรู้ด้านกฎหมายล้มละลาย ลอกที่ “ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ” คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซไว้ มาอ่านกันก่อน

“การล้มละลาย” ……….
หมายถึงการมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งนำไปสู่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และคำพิพากษาให้ล้มละลายของศาลล้มละลายกลาง
ผลก็คือการเก็บรวบรวม การจำหน่าย และการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเสมอหน้ากัน
กระบวนการดังกล่าว จะไม่มีการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด

“การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ”
จะต้องเริ่มต้นจากการร้องขอฟื้นฟูกิจการ แม้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายล้มละลาย ก็หาเรียกว่าเป็นกระบวนการล้มละลายไม่
แต่เรียกว่าเป็นกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ถือว่าเป็นทางเลือกอื่นนอกจากการล้มละลาย
โดยลูกหนี้ หรือ เจ้าหนี้ เป็นผู้ร้องขอก็ได้

ด้วยเหตุผลที่ว่า มีหนี้สินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้
และศาลยังมิได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือสั่งให้เลิกนิติบุคคล

ทั้งนี้ เพียงแค่ “ศาลล้มละลายกลาง” มีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณา ก็จะเกิดสภาวะพักชำระหนี้ (automatic stay) ในทันที
กล่าวคือเจ้าหนี้จะฟ้องร้องหรือบังคับคดีไม่ได้ ฯลฯ

และถ้าศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และเห็นชอบกับผู้ทำแผนที่ผู้ร้องเสนอมา
ก็จะมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ซึ่งมีหน้าที่บริหารกิจการแทนลูกหนี้และจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ

กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จึงเหมาะอย่างยิ่งกับ บริษัทมหาชนจำกัด อย่างการบินไทย
เพราะถือว่าเป็นองค์กรธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินกิจการได้ แต่ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงต้องอ้างถึงศักยภาพขององค์กรธุรกิจที่มีชื่อเสียง เคยได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้บริการ มีเส้นทางการบินทั้งในและต่างประเทศ มีทรัพย์สินทั้งมีตัวตนและไม่มีตัวตนมีมูลค่ามหาศาล มีกระทรวงการคลังถือหุ้นรายใหญ่
จึงมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้….

หากปล่อยให้ล้มละลาย ย่อมกระทบถึงชื่อเสียงของประเทศเป็นส่วนรวม ตลอดจนกระทบต่อพนักงานและครอบครัว รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอีกมากมาย
การจัดทำแผน ต้องแล้วเสร็จในระยะเวลาสามเดือน
โดยขยายเวลาได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งเดือน

ในแผนจะมีทั้งข้อเสนอในการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ต้องลดหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งการยืดเวลาชำระหนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างกิจการ

ที่สุดต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมเจ้าหนี้ และศาลล้มละลายกลาง แล้วจึงบริหารแผนต่อไป โดยผู้บริหารแผนตามระยะเวลากำหนดไว้ในแผนไม่เกินห้าปี

นี่เป็นบทสรุปย่อๆ ส่วนรายละเอียดมีความซับซ้อนกว่านี้มากนัก โดยเฉพาะการหาตัวผู้ทำแผน และผู้บริหารแผนที่ต้องมีความรู้ความชำนาญ ความซื่อสัตย์เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

เพราะแม้ลูกหนี้อาจเสนอตัวเป็นผู้ทำแผนและบริหารแผน ก็อาจไม่ได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะทางฝ่ายเจ้าหนี้

การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ หากต้องดับสูญสิ้นชื่อไป เพราะมีหนี้สินหลายหมื่นล้านบาท อันเกิดจากการล้มเหลวในการบริหารจัดการ

และบางส่วนก็มาจากการแสวงหาประโยชน์และการทุจริตของบุคคลทั้งภายในและนอกองค์กร เป็นที่น่าเสียใจ เสียดาย และเศร้าสลดใจ

หวังว่าการบินไทยจะกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาตืที่สง่างาม นำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศ และประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

อีกท่าน มีประสบการณ์กับการบินไทยมาก ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี คือ “คุณบรรยง พงษ์พานิช” ประธาน บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ท่านโพสต์เฟซไว้ ดังนี้

Banyong Pongpanich
โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายนั้น ยังไม่ใช่การปล่อยหรือการยอมล้มละลายนะครับ
มันเป็นกระบวนการเพื่อให้ Stakeholders ทั้งหลาย อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ในรูปแบบต่างๆทั้งมีและไม่มีหลักประกัน
รวมไปถึงพนักงาน ได้มาร่วมตกลงกัน ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยมีเป้าหมายแค่สองเป้า คือ

1.พยายามรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) ของกิจการให้มีมากที่สุด ซึ่งในกรณีทั่วไปนั้น มูลค่าจะมากกว่า ถ้าให้กิจการยังดำเนินธุรกิจต่อเนื่องไปได้ ย่อมมีค่ามากกว่าแบ่งขายทรัพย์สินมาก กับ

2. แบ่งปันมูลค่านั้นให้แก่ Stakeholder ทั้งหลายได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งตามหลักสากล ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับสิทธิก่อน
ถัดไปก็เป็นเจ้าหนี้มีประกัน และตามด้วยเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เหลือจึงจะเป็นของผู้ถือหุ้น
แต่ใครจะได้เมื่อไหร่ เท่าใด ก็เป็นเรื่องที่จะต้องใช้กระบวนการตกลงกัน

ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องพึ่งศาล แต่ถ้าเดินต่อไม่ได้จนศาลสั่งให้ล้มละลาย ถึงจะชำระบัญชี จำหน่ายทรัพย์สิน แล้วมาแบ่งกันตามลำดับกฎหมาย

ในการจะฟื้นฟูกิจการ ส่วนมากจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเพิ่มเพื่อให้ดำเนินการต่อได้(เพื่อeconomic value ที่มากกว่านั่นแหละครับ)

ดังนั้น คนที่ใส่เงินเพิ่มจึงมักจะมีอำนาจต่อรองสูงกว่า เช่น อาจจะเป็นเจ้าหนี้ที่ลำดับชั้นสูงกว่า มีสิทธิ์ได้คืนก่อนเมื่อกิจการปกติ หรือได้ก่อน

แม้สุดท้าย ต้องชำระบัญชี หรือมีสิทธิ์เปลี่ยนหนี้เป็นหุ้นถ้ากิจการดี เป็นต้น

สายการบินชั้นนำของโลกที่มีปัญหา เคยเข้าสู่กระบวนการนี้จำนวนมาก
-Pan Am ที่เคยใหญ่ที่สุดในโลก TWA ของอเมริกัน เข้า Chapter11 แล้ว ไปไม่รอด ล้มละลายไปนานแล้ว
-UNITED ที่ 2019 มีกำไรเกือบแสนล้านบาท ก็เคยเข้า Chapter11 ถึงสองครั้งและกลับมาแข็งแกร่งได้อีก (ครั้งหนึ่ง ใช้โอกาสนั้น ลดประโยชน์อดีตพนักงานทั้งบำนาญมหาศาล ทั้งสิทธิ์บินฟรีจนหมด อันนี้น่าสนใจนะครับ)
– Swiss Air เคยฟื้นฟูจนกลับมาได้เป็นสายการบินแห่งชาติสวิสที่ Lufthansa ถือหุ้น100% แล้วคนสวิสที่อยากถือก็ไปซื้อหุ้น Lufthansaได้
-JALเจ๊งจนต้องไปตามคุณปู่อินาโมริมาแก้จนกลับมาแข็งแกร่ง ปีที่แล้วกำไรสามหมื่นล้าน
-MAS ที่โชคร้ายปีเดียวเครื่องตกไปสองลำ ก็ต้องฟื้นฟูใหญ่ เข้าซบรัฐบาล (ซึ่งรัฐยอมให้เงินโดยซื้อเครื่องบินออกไปแล้วลีสกลับให้ถูกๆ)

อย่าไปกลัว อย่าไปอายกระบวนการฟื้นฟูอย่างนี้เลยครับ มันไม่ใช่การปล่อยล้มละลายอย่างที่สื่อบางรายเข้าใจผิด เอาไปโหมประโคม

ครับ….
ชอบใจที่คุณบรรยงบอก “อย่าไปอายกระบวนการฟื้นฟู” ที่ไหนๆ ในโลก เขาก็ไป “ชุบตัวใหม่” ทางนี้ทั้งนั้น!

LineID:plewseengern.com

Written By
More from plew
ดูปาก “ณัชชา” นะคะ – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน ในการศึก “นิ่ง” น่าสะพรึงกลัวกว่า “เคลื่อนไหว” เพราะนิ่ง ศัตรูจะครั่นคร้าม ด้วยเดาใจไม่ถูกว่า ในนิ่งนั้น ซ่อนเล่ห์กลศึกใด ตรงข้ามกับเคลื่อนไหว...
Read More
0 replies on ““การบินไทย”ที่ไม่ล้มละลาย”