วันนี้ (8 พ.ค. 63) เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ชี้แจงการจัดการการขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ
และการขนส่งการให้บริการเดินทางระหว่างจังหวัดหรือภายในเขตพื้นที่จังหวัด ช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สาระสำคัญ ดังนี้
ปลัดกระทรวงคมนาคม ยืนยันกระทรวงคมนาคมต้องการให้ผู้เดินทางได้รับความสะดวกและถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับการให้บริการการเดินทาง ภายใต้คำสั่งประกาศการควบคุมพื้นที่ ควบคุมกิจกรรม/กิจการต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดเวลาเคอร์ฟิว ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการ ด้วยการออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางที่ให้บริการระหว่างจังหวัดหลายเส้นทางจากเดิมมี 800 กว่าเส้นทางทั่วประเทศ ให้ลดหรืองด 200 กว่าเส้นทาง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เช่นเดียวกับการระงับหรืองดการเดินรถไฟระหว่างจังหวัด จากเดิมเดินรถ 500 ขบวนต่อวัน ปัจจุบันคงเหลือเพียง 43 ขบวนต่อวัน วิ่งระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร เนื่องจากข้อจำกัดเวลาเคอร์ฟิวจึงตัดการเดินทางออกหลายเส้นทาง
ปลัดกระทรวงคมนาคมยังย้ำว่า เป็นบทเรียนสำคัญ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น หลังรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการกิจกรรม/กิจการในวันที่ 3 พ.ค. พบว่าประชาชนในกรุงเทพมหานครที่เดินทางโดยใช้รถไฟฟ้าเป็นหลัก มีความหนาแน่น แออัด เหตุจากความขัดข้องของระบบการเดินรถ ไม่สามารถเดินรถได้ในช่วงเวลาเร่งด่วน ทำให้ประชาชนหนาแน่น การควบคุมการเว้นระยะห่าง รวมถึงการจัดการจำนวนคนที่เข้ามาในสถานีทำได้ยาก จึงสั่งการเตรียมระบบและซักซ้อมวิธีการปฏิบัติ เน้นหลักการสำคัญในการเว้นระยะห่างทางสังคมในการใช้รถไฟฟ้า ซึ่งจากการติดตามผลพบว่า มีการจัดการดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนที่เดินทาง ปฏิบัติตามข้อแนะนำที่กำหนดไว้ สำหรับข้อร้องเรียน ในการรอการใช้บริการเป็นเวลานานนั้น เนื่องจากรถไฟฟ้าหนึ่งขบวนสามารถรองรับคนได้ประมาณ 1,000 – 1,100 คน แต่เมื่อใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยมาตรฐานของสาธารณสุขแล้ว ทำให้บรรจุคนนั่งและยืนในรถขบวนได้เพียง 250 ต่อขบวนเท่านั้น
ทั้งนี้ นอกจากมาตรการเว้นระยะห่างแล้ว ผู้เดินทางต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่มาใช้บริการ สถานีมีการตรวจวัดอุณหภูมิทั้งก่อนเข้าสถานี ก่อนขึ้นรถ ซึ่งการเดินทางโดยรถเมล์และเรือ ก็จะมีมาตรการควบคุมเช่นเดียวกัน
ปลัดกระทรวงคมนาคมยังชี้แจงถึงการเดินทางทางอากาศว่า เดือนพฤษภาคมนี้ มี 5 สายการบินที่กลับมาเปิดให้บริการขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะมีการเปิดท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเดินทางทางอากาศทั้งสิ้น 18 แห่งในภูมิภาค รวมทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง โดยเป็นการเดินทางเฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางในประเทศเท่านั้น ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออกต่างประเทศ ยังอยู่ในการควบคุม โดยมีข้อกำหนดในการเดินทางภายในประเทศด้วย คือ ท่าอากาศยาน 18 แห่งนั้น แต่ละแห่งที่เปิดมีกำหนดระยะเวลาให้บริการ ตั้งแต่ 07:00 น. ถึง 19:00 น. เหตุที่ต้องปิดสนามบินในช่วงเวลา 19:00 น. นั้น เพื่อเป็นไปตามมาตรการควบคุมตามเคอร์ฟิว เผื่อเวลาให้ผู้เดินทางได้มีเวลาเดินทางกลับที่พักอาศัยหรือภูมิลำเนา
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีความห่วงใยผู้โดยสารที่เดินทางในทุกระบบ จึงกำหนดมาตรการเพื่อเป็นข้อปฏิบัติทั้งผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน สถานีมีการตรวจคัดกรอง และทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ พนักงานที่ให้บริการดูแลสุขภาพอย่างดี เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อ หากมีอาการป่วยหรือมีไข้ ขอให้งดการเดินทางลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ขอให้ศึกษาข้อมูลของจังหวัดนั้นๆ ตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อความสะดวกในการเดินทาง ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีสายด่วน “ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม” 1356 สามารถสอบถามการให้บริการด้านการขนส่งทางถนน รวมทั้งสายด่วนกรมการขนส่งทางบก 1584 ด้วย