โรคผมร่วงแบบไหนที่ควรมาพบแพทย์

ภาวะผมร่วงเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ โรคผมร่วงสามารถแบ่งตามอาการ และสาเหตุออกได้เป็น 3 ชนิดหลัก คือ ผมบางจากพันธุกรรม ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ และผมร่วงทั่วไปทั้งศีรษะผมบางจากพันธุกรรม (androgenetic alopecia) พบบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในผู้ชายผมจะเริ่มจากแนวผมด้านหน้าเถิกร่นหรือผมบางบริเวณกระหม่อมด้านหลัง ผู้ชายผมจะเริ่มบางเมื่อเข้าสู่อายุ 30-35 ปี และบางลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น ส่วนผู้หญิงผมจะร่วงจากบริเวณแสกกลางของศีรษะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีประวัติของคนในครอบครัวมีภาวะผมบางร่วมด้วยมาก่อน

โดยคำแนะนำของโรคผมบางจากพันธุกรรมนี้ เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งเห็นเด่นชัด แต่การรักษาแต่เนิ่น ๆ จะสามารถช่วยชะลอการหลุดร่วงของเส้นผมและทำให้ผมขึ้นกลับมาได้ ด้วยการใช้ยาทา ยารับประทานหรือการใช้แสงเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ แต่ถ้าปล่อยไว้นาน อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดปลูกผมร่วมไปด้วย คำแนะนำ คือควรมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อให้ทำการรักษาต่อไปในระยะยาว

ผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata: AA) พบได้ทุกส่วนของร่างกายที่มีผมหรือขน อาจเกิดผมร่วงหย่อมเดียวหรือหลาย ๆ หย่อมรวมกันหรือผมร่วงเป็นทั้งศีรษะ เรียกว่า alopecia totalis  เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ไปทำลายเส้นผมตัวเอง โดยคำแนะนำของโรคผมร่วงเป็นหย่อม ควรรีบมาพบแพทย์ ถ้าผมร่วงเป็นหย่อม แต่จำนวนไม่มาก 1-3 หย่อม  แพทย์มักจะให้การรักษาด้วยยาทา หรือฉีดยาเฉพาะที่ที่หนังศีรษะ โดยโรคผมร่วงเป็นหย่อม แบบไม่กี่หย่อมนี้ ผู้ป่วยร้อยละ 30-50 สามารถหายได้เองภายใน 1 ปี แต่ถ้าผมร่วงเป็นหลายหย่อมหรือลามไปทั้งศีรษะควรมาพบแพทย์โดยด่วน

ผมร่วงเป็นหย่อม ชนิดหลายหย่อม ควรมาพบแพทย์

ผมร่วงทั่วๆ อย่างฉับพลัน (Telogen effluvium)  ลักษณะของผมร่วงชนิดนี้ผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงมากผิดปกติ มากกว่า 100 เส้นต่อวันหรืออาจสูงถึง 1,000 เส้น ลักษณะร่วงทั่วศีรษะ แต่จะเห็นเด่นชัดบริเวณขมับ ผมร่วงชนิดนี้ส่วนใหญ่จะเกิดตามหลังภาวการณ์เจ็บป่วย ไม่สบาย หลังมีไข้สูง เช่น  ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่  ปอดอักเสบ ภาวะช็อก ได้รับการผ่าตัดใหญ่ หลังคลอดบุตร ผู้ที่ลดน้ำหนักอย่างฉับพลัน โรคเจ็บป่วยเรื้อรัง โรคความผิดปกติของไทรอยด์ หรือฮอร์โมน ภาวะขาดสารอาหาร ขาดวิตามิน ธาตุเหล็ก หรือโปรตีน มีความเครียดจัด หรือผิดหวังอย่างรุนแรง รวมไปถึง ตามหลังการได้รับยาบางชนิดเป็นต้น

โดยคำแนะนำปกติแล้วโรคนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ผมจะขึ้นใหม่ได้เอง หลังที่สาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นหมดไป ยาทาในกลุ่ม minoxidil ทำให้ผมที่ร่วงไปขึ้นมาใหม่และแข็งแรงขึ้น ผู้ป่วยสามารถช่วยดูแลตัวเองโดยการทานอาหารให้ครบห้าหมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจทานวิตามินเสริมในรายที่ทานน้อย หรือไม่ครบ ในรายที่ผมร่วงต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือน หรือยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังและเส้นผม

โดย รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

Written By
More from pp
สธ.ไทย- U.S. CDC. ร่วมสร้างความเข้มแข็งระบบสอบสวนโรค
กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมสร้างความเข้มแข็งระบบสอบสวนป้องกันควบคุมโรคไทยนานกว่า 40 ปี มีนักระบาดวิทยาเชี่ยวชาญ ควบคุมโควิด 19 อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไทยเป็นผู้นำด้านความมั่นคงสุขภาพโลก
Read More
0 replies on “โรคผมร่วงแบบไหนที่ควรมาพบแพทย์”