กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เพื่อป้องกัน 5 โรคที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 วันนี้ (6 พฤษภาคม 2563) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อากาศร้อนสลับฝนตก ซึ่งในวันที่อากาศร้อนจะเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด อาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำ ประกอบกับในช่วงนี้ มีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อ จึงมีการประกอบอาหารเองหรือออกไปรับแจกจ่ายอาหารจากข้างนอกบ้าน แต่หากทำไม่ถูกวิธีหรือไม่สะอาด โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุกหรือไม่ผ่านความร้อน รวมถึงอาหารที่บูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น อาจทำให้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำได้
กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยจากรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–28 เมษายน 2563 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยด้วย 5 โรคสำคัญที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 271,933 ราย โรคอาหารเป็นพิษ 25,640 ราย โรคบิด 679 ราย โรคอหิวาตกโรค 1 ราย และโรคไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 153 ราย
สำหรับโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หนอนพยาธิฯ ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดท้อง ถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ในบางรายมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันคือ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว ขอให้สำรวจก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ ส่วนอาหารที่กลิ่น รส หรือรูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นให้ร้อนทั่วถึงก่อนรับประทาน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ในการปรุง การเก็บอาหาร ต้องคำนึงถึงความสะอาด ปลอดโรค ปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อน อาหารควรปรุงสุก รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำและน้ำแข็งที่สะอาด (มีเครื่องหมาย อย.) เก็บถนอมอาหารอย่างถูกวิธี และก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และหากมีอาการตามข้างต้น สามารถช่วยเหลือเบื้องต้น โดยให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากไม่ดีขึ้น รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบแพทย์ และควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เพื่อช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังอยู่ในร่างกาย หากใช้ยาปฏิชีวนะ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422