ปภ.รายงานมีจังหวัดได้รับผลกระทบจากจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” 13 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด พร้อมเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยเร็ว
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานอิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2562 – ปัจจุบัน ทำให้เกิดน้ำสถานการณ์ภัยในพื้นที่ 13 จังหวัด รวม 17 อำเภอ 33 ตำบล 72 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 194 ครัวเรือน ยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม เพชรบูรณ์ และระนอง
ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง พร้อมระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2562 – ปัจจุบัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ ในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ เพชรบูรณ์ อำนาจเจริญ นครพนม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี กระบี่ และระนอง รวม 17 อำเภอ 33 ตำบล 72 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 194 ครัวเรือน ยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด ได้แก่
อุบลราชธานี เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอกุดข้าวปุ้น บริเวณวัดบูรพานิมิตร ประชาชนได้รับผลกระทบ 65 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
ร้อยเอ็ด เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสลภูมิ อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอเมยวดี และอำเภอเมืองร้อยเอ็ด รวม 12 ตำบล 38 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 4,110 ไร่ ถนน 5 สาย สะพาน 1 แห่ง พนังกั้นน้ำ 3 แห่ง ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
มหาสารคาม เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองมหาสารคาม บริเวณเรือนจำ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
เพชรบูรณ์ เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอชนแดน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
ระนอง เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอกระบุรี ประชาชนได้รับผลกระทบ 64 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้หลายพื้นที่อาจเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ปภ.จึงขอฝากเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากวาตภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป