ผักกาดหอม
แล้วกัน…
มีแต่คนคิดถึง “ลุงตู่”
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง “การเมืองไทย ไปต่อแบบไหนดี”
ผลออกมาดังนี้ครับ…
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ ๔๒.๓๗ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ควรประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อหานายกฯ คนใหม่
รองลงมา
ร้อยละ ๓๙.๙๒ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ควรยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป ร้อยละ ๑๕.๐๔ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ควรบริหารประเทศต่อไปเหมือนเดิม
ร้อยละ ๑.๓๗ ระบุว่า เรียกร้องให้มีการรัฐประหาร
ร้อยละ ๐.๙๙ ระบุว่า อย่างไรก็ได้ และร้อยละ ๐.๓๑ ระบุว่า ไม่ตอบ
ส่วนบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปตามรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ
พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ ๓๒.๘๒ ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (องคมนตรี-แต่เป็นแคนดิเดตจากพรรครวมไทยสร้างชาติ)
รองลงมา ร้อยละ ๒๗.๙๔ ระบุว่า ไม่สนับสนุนใครเลยตามรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ
ร้อยละ ๑๑.๕๓ ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย)
ร้อยละ ๑๐.๙๒ ระบุว่าเป็น นายชัยเกษม นิติสิริ (พรรคเพื่อไทย)
ร้อยละ ๙.๗๗ ระบุว่า ใครก็ได้ตามรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ
ร้อยละ ๓.๘๒ ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ)
ร้อยละ ๑.๘๓ ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์)
ร้อยละ ๐.๘๔ ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ)
และร้อยละ ๐.๕๓ ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ความคิดเห็นของประชาชนต่อการที่พรรคประชาชนควรร่วมลงชื่อกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อขอเปิดอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและ/หรือรัฐมนตรี จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน
พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ ๖๔.๔๓ ระบุว่า ควรลงชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และ/หรือ รัฐมนตรี
รองลงมา ร้อยละ ๒๖.๒๖ ระบุว่า ไม่ควรลงชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และ/หรือ รัฐมนตรี ร้อยละ ๗.๔๘ ระบุว่า อย่างไรก็ได้ และร้อยละ ๑.๘๓ ระบุว่า ไม่ตอบ
ครับ…สรุปความสั้นๆ
ประชาชนทุบโต๊ะให้ “แพทองธาร” ลาออก
แล้วเชิญ “ลุงตู่” กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี
อีกประเด็นคือ ปลุกพรรคส้มให้ตื่นจากการหลับใหล นั่งเอาหล่อเอาสวย มาร่วมลงชื่อกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเปิดซักฟอกรัฐบาล
โพลไม่ได้ระบุครับว่าทำไมถึงอยากให้ “ลุงตู่” กลับมา แต่พอที่จะคาดเดาได้ว่า ยุคลุงตู่ เจอวิกฤตโควิดระบาดไปทั่วโลก หยุดชะงักกันไปนานนับปี
สุดท้ายประเทศไทยผ่านมาได้
แล้ว “ลุงตู่” กลับมาได้หรือเปล่า เพราะเคยมีกรณี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ลาออกจากการเป็นองคมนตรีมาเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว
เอาเข้าจริงเทียบกันไม่ได้ครับ เพราะบริบททางการเมืองต่างกัน
อีกประเด็นคือ มีความเข้าใจในการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกสุรยุทธ์ ผิดไปจากข้อเท็จจริงมากทีเดียว
หลังการเกษียณอายุราชการ พลเอกสุรยุทธ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ ให้ดูแลด้านความมั่นคง
ระหว่างนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ พลเอกสุรยุทธ์ ได้ลาอุปสมบท เป็นเวลา ๑ พรรษา ณ วัดป่าดานวิเวก จังหวัดหนองคาย
หลังจากลาสิกขามาได้ไม่นาน การเมืองไทยก็เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๘ และลุกลามบานปลาย จนนำไปสู่การยึดอำนาจ ในวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เสนอชื่อ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
ที่จริง พลเอกสุรยุทธ์ วางเป้าหมายไว้ว่า จะอุปสมบทและออกธุดงค์ไปในภาคอีสาน
แต่ยังไม่ทันได้เข้าอุปสมบทดังที่ตั้งใจไว้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีเสียก่อน
ระยะเวลาลาออกเพื่อไปอุปสมบทกับการเป็นนายกรัฐมนตรีห่างกันร่วม ๒ ปี
จะเห็นได้ว่าไม่ใช่จู่ๆ พลเอกสุรยุทธ์ลาออกจากองคมนตรีเพื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนที่มีการบิดเบือนกันว่า การรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มีสถาบันฯ อยู่เบื้องหลัง
ฉะนั้นหาก “ลุงตู่” ลาออกจากองคมนตรีเพื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นกรณีที่แตกต่างจากกรณีของพลเอกสุรยุทธ์อย่างสิ้นเชิง
แต่… “ลุงตู่” ไม่มาหรอกครับ!
มีหลายปัจจัยที่ “ลุงตู่” ไม่อาจมาได้ หลักๆ คือ ท่านดำรงตำแหน่งองคมนตรีอยู่ และตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ปลอดการเมือง
ที่สำคัญการเมืองไม่ถึงทางตัน
แต่ที่กำลังจะถึงทางตันคือ “ทักษิณ-แพทองธาร”
การเมืองมีทางออกตลอดเวลาครับ ไม่ว่ายุบสภา ลาออก เมื่อถึงเวลา คนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจทำ
จะตั้งรัฐบาลใหม่ หรือไปเลือกตั้ง ล้วนเป็นทางออกตามกติกา ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่น่ากังวล
แต่ที่ต้องจับตามองคือ การที่ “ทักษิณ” พยายามรักษาอำนาจไว้ ล่าสุดจะสร้างผลงานเจรจาภาษีทรัมป์ ที่บรรดาลูกหาบออกมาตะโกนว่า สำเร็จแน่นอน
คนแบบ “ทักษิณ” ต้องระวังครับ
การใช้สันดานพ่อค้ามาตัดสินใจแทนรัฐบาลโดยเอาผลประโยชน์ของชาติไปแลกเปลี่ยน อาจเสียมากกว่าได้
ที่สำคัญ “ทักษิณ” ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรหากเกิดความเสียหาย แต่จะได้หน้าหากเจรจาลดภาษีได้สำเร็จ
แต่มันก็คนละเรื่องกับการสร้างสตอรีชั้น ๑๔
จะเอามาล้างบาปมิได้.
