เปิดเวที ‘ลานภาค’ ในงาน 23 ปี ‘ลูกโลกสีเขียว’ สะท้อนเสียงจากป่า ศึกษาบทเรียนจากผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงรุนแรง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายคนเริ่มตระหนักถึงการผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับชีวิต สังคม และชุมชนที่อาศัยอยู่ จึงเกิดแนวคิดที่จะลุกขึ้นมาปกป้องธรรมชาติ โดยเฉพาผืนป่าในชุมชนของตัวเอง…

ที่ผ่านมา “รางวัลลูกโลกสีเขียว” โดยสถาบันลูกโลกสีเขียว บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) มีการรวบรวมผลงานที่ได้รับการยกย่องมาโดยตลอด และจากการติดตามโครงการ พบว่า มี 4 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้แต่ละชุมชนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงชุมชนของตัวเอง ได้แก่

1. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่กระทบต่อความเป็นอยู่โดยตรง 2. เศรษฐกิจและสังคม เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าโดยกลุ่มทุน 3. ผลกระทบซ้อนสอง ทั้งภัยธรรมชาติและแรงกดดันจากระบบเศรษฐกิจ และ 4. ความตระหนักรู้จากภายใน แรงบันดาลใจที่จุดไฟในใจคนให้อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง

และในงานประกาศ “รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 23” ปี 2568 นี้เองก็ได้มีเวทีเสวนาที่ออกมาสะท้อนถึงปัญหาที่เคยเกิดขึ้น รวมถึงแนวคิด และความหวังของแผ่นดิน หรือที่เรียกว่า “ลานภาค” ซึ่งเป็นจุดร่วมของเครือข่ายคนรักษ์ป่าจากทั่วประเทศ ที่มาร่วมกันสะท้อนสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในแต่ละภูมิภาค พร้อมบทเรียน ข้อเสนอ และความหวังในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน

ภาคเหนือ “แม่น้ำกกจากสายธารแห่งชีวิต…สู่แม่น้ำแห่งความตาย?” โดยเวทีนี้หยิบยกปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยเฉพาะสารหนูจากเหมืองแร่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่ไหลลงสู่ลุ่มน้ำกก ทำลายระบบนิเวศ และกระทบต่อชีวิตของคนไทยในพื้นที่ชายแดนโดยตรง “นี่คือมลพิษที่ข้ามพรมแดนมา ‘ฆ่า’ แม่น้ำที่เคยให้ชีวิต” ภาคประชาชนเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อแก่ภาครัฐ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการตอบสนองเชิงนโยบายอย่างชัดเจน

ภาคกลาง – ตะวันออก “สิ่งแวดล้อมในเมืองเรื่องสำคัญของการอยู่ร่วม” สะท้อนให้เห็นว่าเมืองที่ขาดต้นไม้ พื้นที่สีเขียว และการจัดการของเสียที่ดี คือเมืองที่ไม่ปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตอีกต่อไป ผ่านมุมมองของตัวแทนชุมชนเรวดี (รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 21 ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน) นายกสมชาย จริยเจริญ (รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 13 ประเภทบุคคล) และตัวแทนกลุ่ม Bigtree
ทำให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมในเมืองเป็นปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอดของมนุษย์ เพราะเมืองเป็นแหล่งอยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ของโลก หากสิ่งแวดล้อมในเมืองเสื่อมโทรม เช่น มีมลพิษทางอากาศ ขาดพื้นที่สีเขียว หรือระบบจัดการขยะไม่ดี จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างรุนแรง การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน การใช้พลังงานสะอาด และการเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติ จึงเป็นหัวใจของการสร้างสิ่งแวดล้อมในเมืองที่เอื้อต่อการอยู่รอดในระยะยาว

ภาคใต้ “รู้เพื่อรอด รอดเพราะรู้ บนเส้นทางที่ท้าทาย” โดยสามชุมชนใต้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากชายฝั่งถึงป่าเขา ทั้งกลุ่มสะพานไม้บานา จ.ปัตตานี ที่ฟื้นคืนอ่าวและวิถีชีวิต กลุ่มเยาวชนอ่าวทุ่งนุ้ย จ.สตูลสร้างคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เปราะบาง และบ้านไหนหนัง จ.กระบี่ ที่จัดการผึ้ง ป่า และทะเล อย่างสมดุล โดยมีเป้าหมายคือการสร้างแรงบันดาลใจให้เครือข่ายภาคใต้ก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) “บุกป่ากันชน ชมทับทิมสยาม ๐๗” แสดงให้เห็นถึงแนวคิด “ป่ากันชน” หรือ buffer zone ที่บ้านซำหวาย และทับทิมสยาม ๐๗ ถูกยกเป็นตัวอย่างของชุมชนที่ไม่เพียงแค่รักษาป่า แต่ยังมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกา ใช้ประโยชน์อย่างรู้คุณค่า และลดความขัดแย้งระหว่างรัฐและชุมชน และยังทำให้ชุมชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ตามวิถี มีส่วนร่วมจัดการ กำหนดกฎกติกา การพัฒนา สร้างคุณค่าแก่ทรัพยากรธรรมชาติ

ภาคกลางตะวันตก “ต้นไม้ที่แลกมาด้วยเลือดและศรัทธา” เรื่องเล่าจากบ้านเขาดิน จ.นครสวรรค์ ที่ในปี 2531 ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มอิทธิพลที่พยายามฮุบที่ดินชุมชน ด้วยอาวุธครบมือ แต่ชาวบ้านกลับยืนหยัดด้วย “ใจ” และ “สามัคคี” ปกป้องผืนป่าของตนเองไว้ได้ จากการชี้แจงกับกลุ่มชายฉกรรจ์ว่า “พื้นที่แห่งนี้เป็นสมบัติของคนบ้านเขาดิน คนที่จะเป็นเจ้าของได้ต้องเป็นคนบ้านเขาดิน เพราะคนบ้านเขาดินที่เป็นคนจน ไม่มีที่ทำกินก็มี หากจะมาขอซื้อต้องรอมติจากชาวบ้านก่อน พวกผมจะตัดสินใจขายไม่ได้ พื้นที่เป็นที่สาธารณะไม่ใช่ที่ส่วนบุคคล”

จากเหตุการณ์นั้นกลุ่มชายฉกรรจ์ก็ได้ล่าถอยไป มาทราบภายหลังว่าเป็นกลุ่มนายทุนผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ต้องการกว้านซื้อที่ดินไปขายต่อ แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ เป็นเหตุการณ์สำคัญให้คนในชุมชนช่วยกันอนุรักษ์และหวงแหนป่าชุมชนบ้านเขาดิน จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ตามเจตนารมณ์ของคนในชุมชน “เราไม่มีปืน มีแค่ความจริงและความรักในผืนดินเท่านั้น”

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) “จัดการน้ำจากป่าสู่เมือง คืนป่าสู่ชุมชน” โดนบ้านโคกคึมม่วง ใช้กลไกท้องถิ่นและระบบเครือญาติจัดการน้ำจากเขตป่าสู่เขตเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็เจรจาขอคืนพื้นที่ป่าที่เคยถูกบุกรุกคืนกลับมาโดยไม่ใช้ความขัดแย้ง เรื่องเล่าผ่าน นายสุดใจ สุวรรณศรี ประธานป่าชุมชนโคกคึมม่วง สารวัตรกำนัน (รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 23 ประเภทชุมชน)

“ลานภาค” จึงไม่ใช่แค่เวทีเสวนา แต่มันคือ ลมหายใจของการอนุรักษ์ ที่เดินทางมาพบกัน เพื่อส่งเสียงและประสบการณ์กลับไปสู่ผืนป่าที่พวกเขาดูแล

Written By
More from pp
“เพื่อไทย” ชี้ รัฐบาลล้มเหลวจัดการวัคซีน และไม่บอกความจริง ห่วง กระทบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว แนะ เร่งแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนการบริหาร
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส. เชียงใหม่ รองเลขาธิการและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกเศร้าใจและผิดหวังอย่างมาก ที่แม้กระทั่งวันนี้พลเอกประยุทธ์ ก็ยังจัดการเรื่องวัคซีนได้ล้มเหลวต่อไปได้อีก
Read More
0 replies on “เปิดเวที ‘ลานภาค’ ในงาน 23 ปี ‘ลูกโลกสีเขียว’ สะท้อนเสียงจากป่า ศึกษาบทเรียนจากผู้นำการเปลี่ยนแปลง”