แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ท่าทีของประเทศไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (วันพฤหัสบดี ที่ 3 เมษายน 2568) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ระบุว่า

รัฐบาลไทยตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นของสหรัฐฯ ที่จะต้องปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าจำนวนมาก ผ่านนโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Trade and Tariffs) ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ ในขณะที่กรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีทรัมป์ มีความเป็นพลวัต (dynamic) และแตกต่างไปจากยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง

​ล่าสุดประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศนโยบายในงาน Liberation Day เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 เวลา 04.00 น. (เวลาไทย) ได้ประกาศขึ้นภาษีกับการนำเข้าจากทุกประเทศขั้นต่ำร้อยละ 10 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และสหรัฐฯ มองว่าเอาเปรียบสหรัฐฯ ตั้งแต่อัตราภาษีนำเข้า มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Barriers) รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ จะถูกจัดเก็บ โดยแต่ละประเทศจะถูกปรับในอัตราที่แตกต่างกันในอัตราหารครึ่งจากอัตราที่สหรัฐฯ คำนวณว่าสินค้าของสหรัฐฯ ถูกจัดเก็บจากประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทนไว้ที่ร้อยละ 36 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

​การประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าทุกรายอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่อาจไม่สามารถรับกับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและในระดับสูงได้ ดังนั้น ในระยะยาว ผู้ประกอบการส่งออกไทยควรมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว ซึ่งรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และได้วางมาตรการรองรับในการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบที่อาจมีต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทยที่มีตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดหลัก ​

​​รัฐบาลขอเรียนว่า ไทยได้ส่งสัญญาณความพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในโอกาสแรก เพื่อปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการติดตามและประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิดและรอบด้าน ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อจัดเตรียม “ข้อเสนอเพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีสาระสำคัญเพียงพอให้สหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจากับไทย” ที่เหมาะสม และส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน ไทยยังอาจใช้โอกาสนี้ในการปรับโครงสร้างการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับบางอุตสาหกรรมได้

​​ประเทศไทยมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ที่จะสร้างเสถียรภาพและสมดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ ในระยะยาว มีศักยภาพเพียงพอต่อการเป็นหนึ่งในกลุ่มมิตรประเทศเพื่อการลงทุน (Friend Shoring) ที่ทั้งสองประเทศสามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเอื้อซึ่งกันและกัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดโลก อาทิ ในภาคเกษตร-อาหาร ที่สหรัฐฯ มีสินค้าเกษตรจำนวนมากที่ไทยสามารถนำเข้าเพื่อนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกไปตลาดโลก และในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง การที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิต Hard Disk Drive ที่สำคัญของโลก และอุปกรณ์ดังกล่าวก็จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม Data Center และ AI ของสหรัฐฯ

​สุดท้ายนี้ รัฐบาลไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ จะมองถึงเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจร่วมกันในระยะยาว ประเทศไทยยังคงยืนยันเจตนารมณ์ในการเป็นพันธมิตรและมุ่งมั่นผลักดันความร่วมมือในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันสร้างและพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อตลาดโลก ให้เติบโตอย่างมั่นคง เพื่อท้ายที่สุด จะช่วยกันลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและภาคการเกษตรของทั้งสองประเทศ ผ่านการหารืออย่างสร้างสรรค์โดยเร็ว

Written By
More from pp
โออาร์ ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตร จัด “โครงการไทยเด็ด แมชชิ่ง เดย์ ครั้งที่ 5” จ.กาญจนบุรี ร่วมสร้างโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด...
Read More
0 replies on “แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ท่าทีของประเทศไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา”