จากกรณีสื่อมวลชนได้รับการร้องเรียนจาก นายภาคิน หรือคราม อายุ 44 ปี นักแสดง ตัวประกอบชื่อดัง ว่าได้พาคุณป้าน้อง อายุ 62 ปี ไปพบแพทย์ แผนกทันตกรรมชั้น 2 ที่ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จำนวนเกือบ 10 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับการรักษา โดยคุณป้าน้องใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งมีพยาบาลบอกให้รอคิวนานถึง 8 ปี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรสิทธิ์ ตั้งสกุลวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ ทันตแพทย์หญิงอารยา หรรษา หัวหน้างานทันตกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ได้ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงว่า จากที่มีข่าวว่ามีผู้มารับบริการที่โรงพยาบาลร้องเรียนถึงการเข้ามารับบริการ ขอชี้แจงว่าน่าจะเป็นการรับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะแผนก ทันตกรรมซึ่งมีระบบคิวให้ทุกวันสำหรับผู้ป่วย Walk in จำนวน 12 คิว และผู้ป่วยนัดหมาย จำนวน 38 คิว ที่เหลือจะเป็นด้านเฉพาะทางของกลุ่มโรค
กรณีที่มีภาวะฉุกเฉิน ผู้เข้ามารับบริการสามารถแจ้งกับเจ้าหน้าที่ได้ และจะมีการตรวจประเมินเบื้องต้น โดยไม่ต้องใช้ระบบคิว ถ้าจำเป็นต้องมีการรักษาต่อเนื่อง จะมีการจัดเข้าระบบคิวเหมือนคนไข้นัดหมายทั่วไป
กรณีที่ผู้ร้องเรียนแจ้งว่าได้เข้ามาจองคิวตั้งแต่ตี 2 ตนคิดว่าน่าจะเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะระบบคิวของโรงพยาบาลจะเปิดบริการในเวลา 06.00 น. จนกระทั่งคิวหมดและจะปิดระบบรับคิว ซึ่งกรณีนี้ไม่แน่ใจว่าผู้ร้องเรียนได้รับข้อมูลจากที่ไหน
ทั้งนี้ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีทำฟันปลอมแบบถอดได้ จะมีคิวรอประมาณ 2 ปีเศษ ไม่ใช่ 8 ปี ตามที่เป็นข่าว ทางโรงพยาบาลมีหมอเฉพาะทางในด้านการทำฟันปลอมแบบถอดได้ จำนวน 2 คน ซึ่งจะสามารถทำฟันปลอมได้ประมาณ 8 คน ต่อสัปดาห์ และกว่าจะทำฟันปลอมเสร็จคนไข้ ต้องเข้ามารับการปรับแต่งและเคลียร์ช่องปากก่อน ซึ่งต้องใช้เวลารักษาอย่างต่อเนื่อง และมีนัดหมายประมาณ 5-6 ครั้ง จนกว่าจะทำฟันปลอมเสร็จ ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจบ ทำให้บริการทำฟันปลอมจึงต้องรอคิวนาน
ขณะนี้ ในเบื้องต้นทางโรงพยาบาลได้ประสานไปยังผู้รับบริการทั้ง 2 คน ให้เข้ามารับบริการและมีนัดหมายคิวในวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 สามารถเข้ามาติดต่อกับทางโรงพยาบาลได้ ซึ่งแผนกทันตกรรมจะทำการตรวจเบื้องต้น กรณีมีภาวะฉุกเฉินก็จะทำการเคลียร์ช่องปากให้ก่อน จากนั้นจะเข้าระบบนัดหมายของโรงพยาบาล
โดยสรุป คือ จากการตรวจสอบข้อมูลประวัติผู้ป่วย ผู้รับบริการทั้ง 2 คน ยังไม่เคยได้เข้ารับบริการตามระบบของโรงพยาบาล อาจจะเข้ามาดูและไม่มีคิวจึงกลับไป แต่หากมีการแจ้งกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะมีการตรวจเบื้องต้นให้ก่อน ถ้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง ก็จะเข้าระบบนัดทำฟันปลอม ทุกคนที่เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล มีสิทธิขั้นพื้นฐานการบริการ โดยไม่ได้แยกสิทธิ ส่วนกรณีที่ใช้สิทธิ 30 บาท และต้องรอคิวทำฟันนานถึง 8 ปี น่าจะเป็นการได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
ทันตแพทย์หญิงอารยา หรรษา หัวหน้างานทันตกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน กล่าวว่า จากที่คนไข้ให้สัมภาษณ์ว่ามารอคิวตั้งแต่ตี 2 ถึงเที่ยงวัน อยากแนะนำว่าระหว่างที่รอถ้าไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรแล้วจะได้คิว หรือหากเข้ามาหลายครั้งและไม่ได้คิว ขอให้เข้ามาติดต่อที่แผนกทันตกรรมโดยตรงได้เลยไม่ต้องไปแค่ที่จุดรับคิว เพราะแผนกทันตกรรมจะได้แนะนำขั้นตอน การเข้ารับบริการที่ชัดเจนและถูกต้อง
ด้าน นางวิมลรัตน์ เชาวินัย พยาบาลชำนาญการพิเศษ หัวหน้าหน่วยบริหารความเสี่ยง ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ได้ให้ข้อมูลว่า แผนกทันตกรรม มีจุดรับคิวบริการ ที่ชั้น 1 อาคารสูติกรรม-ศัลยกรรม (ตึกเดิม)โดยมีป้ายติดประกาศเปิดรับคิวเวลา 06.00 น. และปิดให้บริการเวลา 15.00 น. จำนวน 12 คิวต่อวัน ซึ่งมีจุดให้บริการแผนกทันตกรรมที่ชั้น 2 มีป้ายระบุไว้ชัดเจนถึงขั้นตอนการให้บริการต่าง ๆ
