25 มกราคม 2568 – เวลา 17.12 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรสถิต ๗๒ พรรษา” บริเวณสะพานดำรงสถิต ณ ถนนเจริญกรุง เขตพระนคร และทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” บริเวณห้าแยกหมอมี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
ภายใต้โครงการ “เบญจกตัญญุตา บารมีแห่งมังกรสยาม” ณ ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ฯ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการ และ องค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งประเทศ เฝ้าฯ รับเสด็จ
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางจรรย์สมร วัธนเวคิน ที่ปรึกษาโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตร แด่ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพ ฯ
ประธานจัดงาน ฯ กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ กราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ ทรงเปิดซุ้มประตู”วชิรสถิต ๗๒ พรรษา” และซุ้มประตู”วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” และเบิกผู้สนับสนุนโครงการ ฯ เข้ารับพระราชทานของที่ระลึกกราบบังคมทูลเชิญทอดพระเนตรการขับร้องเพลงสดุดีทศมราชา และการแสดงชุดเบญจกตัญญุตาบารมีแห่งมังกรสยาม
พร้อมทั้งขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้สนับสนุน ตามลำดับ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อซุ้มประตู “วชิรสถิต ๗๒ พรรษา” และ”วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ เมื่อเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก
ทั้งนี้ ซุ้มประตูทั้ง 2 ซุ้มพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อว่า “วชิรสถิต ๗๒ พรรษา” อันเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุอย่างยั่งยืนถึง 72 พรรษา ส่วนซุ้มประตูที่แยกหมอมี พระราชทานชื่อ “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” มีความหมายว่า การเทิดทูนจากพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้า เจ้าอยู่หัว ในวาระเฉลิมพระชม 72 พรรษา
และเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานทรัพย์เป็นทุนประเดิมในการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ฯ เป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท ซุ้มประตู “วชิรสถิต ๗๒ พรรษา” ถือเป็นหัวมังกรตั้งอยู่บริเวณสะพานดำรงสถิต มีช่วงกว้างของเสา 16 เมตร ความสูง 23 เมตร และซุ้มประตู “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” เป็นหางมังกรตั้งอยู่บริเวณแยกหมอมี ช่วงกว้างของเสา 14 เมตร ความสูง 23 เมตร การออกแบบ
ซุ้มประตูทั้งสองแห่ง เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนภาคเหนือ หรือแบบของกรุงปักกิ่งเป็นหลัก เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นรูปแบบเฉพาะไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยแนวคิดโบราณของประเทศจีนซุ้มประตูจะอยู่ในกึ่งกลางของถนนแต่ละสาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการเข้าสู่บริเวณสำคัญนั้นๆ
ลักษณะตัวอาคาร เป็นซุ้มประตูจีนแบบ “ไผฟาง” มีช่องทางเข้าช่องเดียว 2 เสา ด้านบนมีหลังคา 3 หลัง ลักษณะของซุ้มประตูเป็นเสาคู่ ประดับด้วยลวดลายมังกร ซึ่งมังกร 5 เล็บของจีนสื่อถึงองค์ฮ่องเต้ หรือองค์พระมหากษัตริย์ ซุ้มประตูสร้างด้วยโครงสร้างเหล็กกล้า ภายในเป็นเหล็กทั้งหมดภายนอกประดับตกแต่งใช้คอนกรีตเสริมใยแก้ว ซึ่งเป็นคอนกรีตที่มีน้ำหนักเบา ในขณะที่ยังคงความสวยงามและรูปแบบศิลปะถูกต้องตามต้นแบบสถาปัตยกรรมจีน ส่วนสีซุ้มประตูเป็นสีแดงที่ใช้สำหรับอาคารสำคัญต่างๆ โดยหลังคาของซุ้มประตูทั้ง 2 แห่งเป็นสีเหลือง อันเป็นสีประจำพระองค์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ของจีนโบราณ
ด้านบนสุดยอดของหลังคาประดิษฐ์ตราสัญลักษณ์มงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 โดยสองข้างของตราสัญลักษณ์เป็นรูปปั้นมังกรคู่เทิดทูนตราสัญลักษณ์ สื่อถึงการแสดงความจงรักภักดี ร่วมใจของพสกนิกรไทยจีนและคนไทยเชื้อสายจีนทั้งหมด มีการเขียนลวดลายโดยใช้ช่างจากประเทศจีน ที่ฐานซุ้มประตูทั้ง 2 แห่งจะมีฐานที่เป็น กล่องหินแกะสลักจากประเทศจีน 4 คู่ มีช้างแบบไทย 2 คู่ หมายถึง ประเทศไทย และสิงโตแบบจีนโบราณ 2 คู่ หมายถึง ประเทศจีน และรูปกลอง 4 คู่ แกะสลักจากหินพิเศษเรียกว่า หินอ่อนหยกขาวจีน (หินฮั่นไป๋ยู่) ออกแบบและแกะสลักโดยศิลปินระดับชาติของอำเภอฉวีหยาง มณฑลเหอเป่ย ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งกำเนิดประติมากรรมแกะสลักของประเทศจีน
โดยได้ใช้เวลาสี่เดือนในการแกะสลักประติมากรรมรูปช้างได้แกะสลักตามรูปแบบช้างพาหนะที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงประทับในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นช้างทรงเครื่อง ตัวหนังสือที่แกะสลักบนผ้าคลุมหลังช้างทั้งสี่ตัวนั้น เป็นคำว่า จี๋ (สิริ) เสียง (มงคล) หรู (สม) ยี่ (ความปรารถนา) ตามลำดับ
ประติมากรรมรูปสิงโตนั้น แกะสลักตามรูปแบบสิงโตที่จัดวางอยู่ทั้งสองฝั่งหน้าประตูพระที่นั่งไท่เหอ ซึ่งเป็นอาคารที่มียศศักดิ์สูงที่สุดในพระราชวังต้องห้ามของกรุงปักกิ่ง สิงโตแต่ละคู่มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจบารมีที่น่าเกรงขาม และบุญวาสนาที่สืบทอดกันอย่างไม่ขาดสายประติมากรรมรูปกลองนั้น ได้แกะสลักลวดลายเมฆมงคล ซึ่งตามความเชื่อและประเพณีของชาวจีน หมายถึงความปรองดองสมานฉันท์ ความสมบูรณ์พูนสุข ความเจริญมั่นคงของบ้านเมืองและความสงบสุขของประชาชนตรงฐานเสาใช้หินแกรนิตสีแดงจากประเทศจีน โดยกรมศิลปากรช่วยออกแบบลวดลายไทยเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย นำมาหุ้มฐานเสา เพื่อความเป็นสิริมงคลยืนยงยาวนาน
การจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ นี้ เกิดจากการรวมพลังความสามัคคี ความจงรักภักดีและความกตัญญูกตเวทิตาของปวงพสกนิกร เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2567 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา ซึ่งซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นสถาปัตยกรรมที่รังสรรค์โดยการผสมผสานทางศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงของอารยธรรมไทย-จีน
และในปีพุทธศักราช 2568 เป็นโอกาสครบ 50 ปีแห่งสัมพันธภาพระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้ร่วมเทิดพระเกียรติด้วยการมอบประติมากรรมมงคล ช้าง, สิงห์ และกลอง แกะสลักจากหินอ่อนหยกขาว “ฮั่นไป๋ยู่” มาประดิษฐานบนฐานปัทม์อันเป็นศิลปกรรมไทยซึ่งออกแบบโดยกรมศิลปากร สะท้อนความมั่นคง-ยั่งยืนแห่งสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน อันจะนำมาสู่การเป็นหมุดหมายแห่งใหม่ที่สำคัญของประเทศในด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยังวัดมังกรกมลาวาส พระคณาจารย์จีนธรรมวชิรานุวัตร เจ้าอาวาส นำบรรพชิตจีน 73 รูป สวดถวายพระพร และทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล ตามพระราชอัธยาศัย และทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึกของวัดมังกรกมลาวาส เสร็จแล้วประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งไปยังซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” โดยมีนายหาน จื้อ เฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, ศ.ดร.หวาง ฮวัน ภริยาเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน นางจรรย์สมร วัธนเวคิน ที่ปรึกษาโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิม พระเกียรติ ๗๒ พรรษา นายชิม ชินวิริยกุล นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย และสมาคมจีนเก้าภาษา นายกิตติ อิทธิภากร ประธานสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย และ องค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งประเทศ เฝ้าฯ รับเสด็จ
การนี้ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และคณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติ รวมถึงผู้มีอุปการคุณจำนวน 2 ชุดๆ ที่บริเวณหน้าซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา”
บรรยากาศ ตลอดทั้งสองเส้นทางถนนเจริญกรุงตั้งแต่บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรสถิต ๗๒ พรรษา” ไปจนถึงซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรธำรง ๗๒ พรรษา” มีประชาชนชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายจีน พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลือง และนักท่องเที่ยวชาวจ่างประเทศเฝ้าฯ รอรับเสด็จ อย่างเนืองแน่น พร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้องถนนเจริญกรุง อันเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นไทย-จีน ใช่อื่นไกลเป็นพี่น้องกัน