นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาพนักงานประจำปี 2567 พร้อมมอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ในปี 2568 ภายใต้แนวคิด “Smart and Spry : OIC with AI in the Wire กำกับดูแลเชิงรุก ปลุกศักยภาพด้วย AI”
เพื่อสะท้อนถึงความตั้งใจของ สำนักงาน คปภ. ที่จะยกระดับองค์กรให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลอย่างชาญฉลาดและว่องไว เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ให้เติบโต มั่นคง และยั่งยืน โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ณ แกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
เลขาธิการ คปภ. กล่าวโดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมากับบทบาทการทำงานในตำแหน่งเลขาธิการ คปภ. เพื่อนำพาองค์กรแห่งนี้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยอย่างเต็มกำลังความสามารถและได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากพนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยอย่างดียิ่ง ส่งผลให้ สำนักงาน คปภ. มีผลงานดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและภาคธุรกิจประกันภัยมากมาย ดังนั้น ตนจึงขอขอบคุณพนักงาน คปภ. ทุกคนและภาคธุรกิจประกันภัยที่ร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้เติบโต มั่นคง และยั่งยืน อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ในปี 2568 สำนักงาน คปภ. และอุตสาหกรรมประกันภัยไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาหนี้สินครัวเรือน หรือความผันผวนทางเศรษฐกิจส่งผลต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้น การมีระบบประกันภัยที่ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินชีวิตจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกคน โดยในปี 2568 สำนักงาน คปภ. มีทิศทางการดำเนินงานใน 7 ประเด็นหลัก ๆ คือ ประเด็นแรก การก้าวข้ามความท้าทายและการเตรียมความพร้อมรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เช่น กรณีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีท่าทีปรับเพิ่มภาษีทางการค้ากับประเทศจีน รวมทั้งประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยไม่ทางตรงก็ทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเสี่ยงด้านมหัตภัย (Catastrophic Risk) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะ Artificial Intelligence : AI ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) การเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลเพื่อให้รองรับความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ประเด็นที่ 2 การมุ่งเน้นการกำกับดูแลที่สะท้อนความเสี่ยง เช่น การพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัย การอนุมัติกรมธรรม์ในรูปแบบ Risk Based Pricing การกำหนดแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยสุขภาพและการประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แนวทางการยกระดับระบบสัญญานเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System: EWS) การทบทวนอัตราส่วนทางการเงินในการติดตามและกำกับดูแลอย่างทันท่วงที (Early Alert Financial Indicators) และการกำกับธุรกิจประกันภัยแบบรวมกลุ่ม (Group-wide Supervision) เป็นต้น ประเด็นที่ 3 การสร้างความสมดุลในการกำกับดูแล ระหว่างการส่งเสริม การกำกับและตรวจสอบในภาคธุรกิจประกันภัย รวมถึงการดูแลประชาชนด้านการประกันภัยในภูมิภาคพร้อมทั้งการสนับสนุนการประกันภัยให้ประชาชนเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างทั่วถึง ควบคู่กับการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) ประเด็นที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การกำกับการบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม (Enterprise Risk Management : ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงิน (Own Risk and Solvency Assessment : ORSA) ของบริษัทประกันภัย การบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 (IFRS 17) และการกำหนดมาตรฐานการให้บริการของธุรกิจประกันภัย (Service Level Agreement : SLA) ประเด็นที่ 5 การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน อาทิ ประชาชนผู้เอาประกันภัย ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย และโรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาเครือข่ายอย่างยั่งยืน ประเด็นที่ 6 การพัฒนาบุคลากรโดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยการใช้เทคโนโลยี เช่น การนำ Artificial Intelligence : AI มาช่วยในการปฏิบัติงานอย่าง Chat GPT หรือ Microsoft 365 Copilot เพื่อทำให้การดำเนินงานรวดเร็วยิ่งขึ้น และประเด็นที่ 7 การมุ่งเน้นการทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ การสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ย่อท้อต่อปัญหา และการบูรณาการการทำงานร่วมกัน.
“ในปี 2568 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่มีความท้าทายในหลากหลายมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงการเกิดภัยธรรมชาติ ดังนั้น บุคลากรของสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จึงต้องทำงานร่วมกันแบบบูรณาการอย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนเป็นที่พึ่งในการบริหารความเสี่ยงทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย