เมื่อฤดูฝนมาถึง ทุกคนคงหนีไม่พ้นปัญหาน้ำท่วม รถติด รวมไปถึงปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคผิวหนัง เพราะบางคนต้องเดินทางไปทำงาน หรือไปเรียน ทำให้ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมขัง เดินลุยน้ำที่สกปรก หรือเดินตากฝนจนเสื้อผ้าเปียก ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อราบนเสื้อผ้า และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังตามมาได้
แพทย์หญิงดวงกมล ทัศนพงศากุล แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ในฤดูฝนส่งผลให้มีน้ำท่วมขังตามท้องถนนและในสถานที่ต่าง ๆ ทำให้เชื้อราและแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี เป็นสาเหตุให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลให้บางคนมีอาการคัน ผื่นแดง รู้สึกว่าผิวหนังระคายเคืองผิดปกติ หากไม่ดูแลรักษาความสะอาดให้ถูกวิธีจะทำให้เกิดโรคผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา รวมถึงผิวหนังอักเสบได้
5 โรคผิวหนังที่พบบ่อยในฤดูฝน ได้แก่
1.ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อรา
โรคเกลื้อน ( Tinea Versicolor) ลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายวง มีขุยละเอียด สีแตกต่างกัน เช่น สีจาง ขาว แดง น้ำตาล หรือดำ มักเกิดบริเวณลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ไหล่ คอ และพบมากในผู้เล่นกีฬาที่มีเหงื่อออกมาก และใส่เสื้อผ้าที่อับชื้น เนื่องจากความอับชื้นจะทำให้ติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น
โรคกลาก (Dermatophytosis) ลักษณะเป็นผื่นวงมีขอบเขตชัดเจน มีขุย เริ่มต้นด้วยอาการคัน ตามด้วยผื่นแดง ต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อย ๆ และมักจะคันมากขึ้น ส่วนใหญ่จะพบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า ดังนั้นต้องดูแลรักษาความสะอาดร่างกายให้ดี เพราะบางครั้งกลากอาจจะติดจากการใช้ของร่วมกับคนที่เป็นโรค หรือติดจากสัตว์เลี้ยงก็ได้
2.ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีลักษณะเป็นผื่นแดงแห้งๆ ออกน้ำตาล มักเกิดในบริเวณที่อับชื้นซึ่งเป็นบริเวณที่เหมาะสมของการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เช่น รักแร้ ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า โรคที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคเท้าเหม็น( Pitted Keratolysis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังชั้นนอก มีอาการเท้าแห้งลอก เท้าจะเหม็นมากกว่าคนทั่วไป มีหลุม รูพรุนเล็กๆบริเวณฝ่าเท้าและง่ามเท้า
3.โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot หรือ Hong Kong foot) เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังจากความอับชื้น และสัมผัสสิ่งสกปรกต่าง ๆ ในบริเวณน้ำท่วมขังหลังเกิดฝนตก ทำให้เกิดผื่นตามเท้า และซอกนิ้วเท้า ในบางรายอาจมีอาการติดเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
4.ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่พบได้ทุกฤดู แต่มักจะมีอาการมากขึ้นหากอุณหภูมิและความชื้นของอากาศเปลี่ยนแปลงไป สังเกตได้ว่าจะมีผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมากที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา ซอกคอ
5.ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง ในฤดูฝนจะมีการเพิ่มจำนวนของแมลงหลากหลายชนิด เช่น ยุง หมัด ไร ด้วงก้นกระดก หากโดนหรือสัมผัสเข้า อาจทำให้เกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบและบางชนิดก็อาจเป็นพาหะนำโรคอื่น ๆมาด้วย
การดูแลตัวเองป้องกันโรคผิวหนังช่วงหน้าฝน ต้องเริ่มจากการอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน ควรใส่เสื้อผ้าที่สะอาดแห้งสนิท ล้างมือ ล้างเท้า หลังลุยน้ำท่วม หากตากฝน ควรสระผมและเป่าให้แห้งก่อนนอน ทาโลชั่น สเปรย์กันแมลง เมื่ออยู่พื้นที่ที่แมลงเยอะ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค ส่วนกรณีที่ลุยน้ำและมีแผล ควรความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
สำหรับการรักษาโรคผิวหนังที่มักพบในฤดูฝน ควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อจะได้ให้ยารักษาตามชนิดของโรคและอาการที่พบ นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการตัวเองหรือคนรอบข้างหากมีอาการที่เข้าข่ายโรคข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง