นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาแนวทางการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ในวันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2567 เวลา 13.30 น. ณ ห้องบอลรูม 2,3 โรงแรมแรมแบรนดท์ โฮเทล แอนด์ สวีท สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร
นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการจัดตั้ง “องค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูง” โดยกำหนดให้เป็นองค์กรอิสระจากการกำกับกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้มีโครงสร้างองค์กรที่มีความคล่องตัวและเหมาะสมสำหรับดำเนินกิจการระบบรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งกำหนดมาตรการ หรือแนวทางในการสนับสนุน ทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ โดยไม่เป็นภาระผูกพันต่องบประมาณของรัฐ สามารถวางแผนและควบคุมให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดยจากการศึกษาการดำเนินงานขององค์กรรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศ พบว่า โดยทั่วไปมีการแบ่งความรับผิดชอบของการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย การก่อสร้างทางรถไฟ สถานีรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงรับผิดชอบภาระทางการเงินในการก่อสร้างและเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน
2.การบริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย การบริหารจัดการและบำรุงรักษาทางรถไฟ สถานีรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงจัดตารางการเดินรถ
3.การเดินรถ ประกอบด้วย การจัดการถจักรล้อเลื่อน การบำรุงรักษารถจักรล้อเลื่อน การให้บริการเดินรถ การจำหน่ายตั๋ว และทำการตลาด
ซึ่งจากการศึกษาตัวอย่างองค์กรรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศ พบว่า รูปแบบที่เหมาะสม คือ รูปแบบแยกเป็นหน่วยงานที่ดูแลการก่อสร้าง กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน และเดินรถ โดยมีรูปแบบโครงสร้างรายละเอียดดังนี้
1.หน่วยงานที่กำกับดูแล ได้แก่ กรมการขนส่งทางราง
2.หน่วยงานที่รับผิดชอบในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยรับหน้าที่ก่อสร้างและเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน
3.หน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจการบริหารจัดการ บำรุงรักษา และให้บริการเดินรถ แสวงหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง โดยให้จัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดในสังกัดกระทรวงคมนาคม (สามารถปรับเป็นบริษัทมหาชน ได้ในอนาคต)
โดยหน่วยงานนี้ มีขอบเขตหน้าที่ และแนวทางในกานดำเนินกิจการ ดังนี้ 1.ได้รับสิทธิในการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสร้างขึ้น ทั้งโครงการที่กำลังพัฒนา และโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 2.ดำเนินกิจการได้ทั้งในรูปแบบเดินรถเอง จ้างเดินรถ หรือให้สิทธิเอกชนเดินรถในรูปแบบ PPP 3.ธุรกิจสามารถดำเนินการได้โดยการดำเนินการเอง หรือร่วมทุนกับภาคเอกชนเพื่อจัดตั้งบริษัท จ้างเอกชนดำเนินการ หรือให้สิทธิหรือสัมปทานแก่เอกชน
ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีจุดเด่น คือ 1.มีความคล่องตัว 2.มีความยืดหยุ่น รองรับการพัฒนาในอนาคต 3.ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี 4.สามารถควบคุมนโยบายของภาครัฐ 5.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ
ทั้งนี้ ภายหลังการสัมมนาในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคม จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน นำมาประกอบผลการศึกษาโครงการเพื่อให้การจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง มีความเหมาะสม ลดภาระงบประมาณของรัฐได้ ซึ่งถือเป็นความมุ่งมั่นของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาระบบด้านอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย