เปลว สีเงิน
พรรค “ประชาธิปัตย์” กับผม…
ความจริงอายุ “ไล่เลี่ยกัน” จะ “แก่-อ่อน” กว่ากัน ไม่เกิน ๒ ปี
ฉะนั้น วันนี้ คุยตามประสา “เพื่อนร่วมรุ่น” ซักหน่อย
เพราะหลังจาก “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรคปัจจุบันนำประชาธิปัตย์เข้าร่วม “รัฐบาลเพื่อไทย”
เสียงครหาด้าน “ไม่เห็นด้วย” อื้ออึง
เพราะ “ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย” เป็นพรรคการเมืองเหมือนกัน แต่ “ต่างวิถี” กัน ชนิดคนละขั้ว
เหมือน “อินทรี” กับ “อีแร้ง”
อินทรี ล่าเหยื่อมีชีวิตเป็นอาหาร
ส่วนอีแร้ง ไม่ล่าสัตว์เป็น คอยกินซากสัตว์ตาย ยิ่งเน่าเฟะ เหม็นตลบ มากเท่าไหร่ ยิ่งถือเป็น “จานโปรด” มากเท่านั้น
ท่านลองจัดหมวดหมู่ดูซิว่า “ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย” พรรคไหนเป็นอินทรีและพรรคไหนเป็นอีแร้ง?
สิ่งที่แน่ๆ คือ…….
ในความเป็นสัตว์ตระกูลนกด้วยกัน แต่ “อินทรีกับอีแร้ง” ชาตินี้หรือชาติไหนๆ ไม่มีทางจะผสมพันธุ์กันได้เลย!
แต่การเมืองตระกูล “ประชาธิปัตย์” กับตระกูล “เพื่อไทย” วันนี้ ผสมพันธุ์กัน ให้เห็นจะจะ
ลูกที่จะคลอดออกมา “หน้าตาเป็นแบบไหนและจะตั้งชื่อสัตว์การเมือง “ต่างสายพันธุ์” นี้ว่าอะไร
จัดประกวด “ตั้งชื่อ” ซะเลย ดีมั้ย?
ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอ การที่ ๒ พรรค “ต่างขั้ว” มาอยู่ร่วมกัน ใครมองว่า “ผ่าเหล่า-ผ่าเผ่าพันธุ์”
แต่ผมมองว่า ดีซะอีกในทางสังคมสามัคคี “สลายขั้ว-สลายสี” ประเทศจะได้หลุดพ้นจาก “วงจรอุบาทว์” ซะที
แล้ว “ใครได้-ใครเสีย” ระหว่าง ๒ พรรคนี้?
นี่คือที่เขาถามไถ่กันในวงสนทนาคอการเมือง ซึ่งส่วนมากมองว่า “เพื่อไทยได้-ประชาธิปัตย์เสีย”
แต่ทางผู้นำพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า ฝ่ายเขาได้ ที่เห็นๆ ได้ทำงานบนเก้าอี้รัฐมนตรี ๒ เก้าอี้
สมตามคำขวัญยุคจมพล “สฤษดิ์-ถนอม” งานคือเงิน เงินคืองาน บรรดาลสุข”
ดีกว่าเป็นฝายค้าน ที่มีแต่งาน เงินแทบไม่มี?!
สรุปแล้ว กรณีประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย “ผิดหรือถูก” ต้องรอผลเลือกตั้งครั้งหน้า ให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ชี้ขาด ตามระบอบประชาธิปไตย
ประชาธิปัตย์ ถ้าเป็นมนุษย์ ก็เฉียด ๘๐ ปีแล้ว คนปูนนี้ ถึงไม่มีความละอาย แต่ที่ควรต้องมีคือ “ประสบการณ์”
“ประสบการณ์” ในรอบ ๑๐ ปี ที่ผ่าน บอกได้ว่า ตามแนวทางที่หัวหน้าพรรคแต่ละคนเดินนำทางมาจนถึงวันนี้
แต่ละผู้นำพรรค ต้องบอกว่า…ผมนำมาถูกทาง
ถูก-ผิดไม่รู้ แต่จาก “ผลเลือกตั้ง” ๒ ครั้งที่ผ่านมา คือเมื่อปี ๒๕๖๒ และล่าสุด ปี ๒๕๖๖ มันเป็นคำตอบชัดอยู่แล้วว่า
“ประชามติ” เยส หรือ โน กับแนวทางการนำพรรค?
กระเดียดไปทาง “โน” นะ
เทียบจากเลือกตั้งปี ๒๕๕๔ ประชาธิปัตย์ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าขับเคี่ยวเพื่อไทย แม้แพ้เพื่อไทยที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นหัวหน้า
ก็แพ้ในทางกระแส-กระสุน แต่ทาง “ฐานเสียง-ฐานศรัทธา” พรรค ยังแน่นปึ๊ก
เห็นได้จากคะแนนรวม เพื่อไทยได้กว่า ๑๕ ล้านเสียง เป็นสส.เขต ๒๐๔ คน
ประชาธิปัตย์ได้กว่า ๑๑ ล้านเสียง เป็นสส.เขต ๑๑๕
“กรุงเทพฯ กับภาคใต้” ประชาธิปัตย์ชนะแบบ “ยกภาค”
แล้วมาดูเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประกาศ “ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ”
จาก ๑๑ ล้านเสียง ประชาธิปัตย์เหลือ ๓.๙ ล้านเสียง
สส.จาก ๑๑๕ เหลือ ๕๒!
อภิสิทธิ์แสดงสปิริต “ลาออก” จากหัวหน้า และได้ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็นหัวหน้า
นำเลือกตั้ง ปี ๒๕๖๖ ปรากฎว่า จาก ๕๒ เหลือ ๒๕ นายจุรินทร์ลาออก และนายเฉลิมชัยเป็นหัวหน้า นำประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย
จากตัวเลขเหล่านี้บอกอะไร?
บอกว่า “หลักการ” ทำให้ผู้นำประชาธิปัตย์หลงยึดตัวเองเป็น “ศูนย์กลางจักรวาล” อะไรที่ผิดไปจากที่ตัวยึด ถือว่าไม่ใช่และปฎิเสธทั้งหมด
ตัวเลข ๑๑ ล้าน ที่เหลือ ๓.๙ ล้าน คือ “คำตอบว่านำมาถูกทางหรือผิดทาง?
ถ้าประชาธิปัตย์ ยังไม่หันหน้าเข้าข้างฝา แล้วสำรวจตัวเอง นำประสบการณ์มาปรับทัศนคติ เลือกตั้งครั้งต่อไป จะปีหน้าหรือปีไหนก็ตาม
จาก ๒๕ เหลือซัก ๕ ซัก ๑๐ ก็เก่งแล้ว!
“หลักการ” น่ะ ไม่ใช่ “ไม่ดี” มันดีและต้องมี
แต่วิธีการนำไปใช้ตะหากที่จะบอกว่าดีหรือไม่ดี
ถ้าใช้แบบ “ยึดติด” ก็จะให้คับแคบ และอีโก้ งมงายแบบโง่ๆ
แต่ถ้าประยุกต์ใช้กับ “ประสบการณ์” ที่ผ่านมา ๗๘-๗๙ ปี แบบนี้แหละ …….
ประชาธิปัตย์ “ทะลุมิติจักรวาล” ทางการเมืองทันที!
“เฉลิมชัย-เดชอิศม์” เป็น “ฉลากใหม่” ของประชาธิปัตย์ก็จริง แต่ต้องยอมรับว่า ตรึงศรัทธาแฟนเก่า-เรียกแฟนใหม่ยังไม่ได้
แล้วทั้งหมดนี้ “จะโทษใคร”?
ถ้าจะให้ตอบ ก็ตอบด้วยภาษาคนประชาธิปัตย์คือ “ต้องโทษมติพรรค”!
แต่ผมโทษ “อดีตนายกฯชวน หลีกภัย”
ท่านเป็น ๑ เดียวของทายาทสืบตระกูลประชาธิปัตย์ที่เหลืออยู่ ในรอบกว่า ๓๐ ปี
ท่านเป็น “แบรนด์ประชาธิปัตย์” ที่สังคมยอมรับ-เชื่อถือ
การเปลี่ยนผ่านตัว “หัวหน้าพรรค” แต่ละคน จนมาถึง “จุดต่ำสุด” วันนี้ ท่านปฎิเสธไม่ได้ว่า….
ท่านไม่มีอำนาจ ท่านไม่มีบารมี ท่านไม่รู้-ไม่เห็น ท่านชี้แนะ-ชี้นำใครไม่ได้!
ถ้าประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคต่ำสิบ ถึงจะไม่ใช่ความผิดท่าน แต่ “ความผิดทางใจ” เกิดกับท่านแน่
และผมเชื่อ ท่านไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์บันทึกว่า “พรรคประชาธิปัตย์” สถาบันการเมืองไทยหนึ่งเดียวนี้
ล่มสลายในยุค “ชวน หลีกภัย” เป็นเสาหลักพรรค!
“มติพรรค” ทำให้ประชาธิปัตย์ลงมาอยู่จุดต่ำสุดนี้ได้
อดีตนายกฯชวน….
ท่านก็ต้องใช้ “มติพรรค” ที่ยึดถือกันนักหนา นำประชาธิปัตย์ให้พุ่งกลับไปสู่จุดสูงสุดหรืออย่างน้อยก็ที่เดิมให้ได้
ที่ท่านชวนตอบนักข่าวที่ถาม “กลัวเขาจะขับท่านออกจากพรรคไหม” ว่า
“ผมไม่ไป มีคนอื่นออกไปจากพรรคหลายคน เสียดาย แม้กระทั่งนายอภิสิทธิ์ ซึ่งก็ยังมีความผูกพันอยู่ ยังพบกันอยู่ประจำ
ที่ท่านตัดสินใจลาออก เพราะไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ แต่ผมอยู่ แม้เหลือผมคนเดียว ผมก็จะอยู่ ไม่มีปัญหา”
การยอมตายคาพรรค ผมว่าไม่ใช่คำตอบนำไปสู่การแก้ไขวิกฤตศรัทธาในพรรค
ตามประเด็นที่ท่านตอบ มีคำถามย้อนกลับว่า คนอื่นออกจากพรรค “เพราะอะไร” อดีตนายกฯอภิสิทธ์ ต้องลาออกจากพรรค “เพราะอะไร”
และที่ว่า “ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้” นั่น…ด้วยเรื่องอะไร?
ผมว่าเหล่านี้ตะหาก เป็นเรื่องควรนำมาใคร่ครวญ ว่าท่านในฐานะ “ผู้นำจิตวิญญานพรรค” ชาวบ้านรับรู้ว่า ท่านคือ “เจ้าของพรรคประชาธิปัตย์” ทางพฤตินัย
อภิสิทธิ์เป็นหัวหน้า จุรินทร์เป็นหัวหน้า เฉลิมชัยเป็นหัวหน้า จะบอกว่าท่าน “ไม่เกี่ยว-ไม่รู้-ไม่เห็น” ไม่มีใครเชื่อ
ก็เพราะหลักการที่ไม่ประยุกต์เข้ากับประสบการณ์นั่นแหละ นำประชาธิปัตย์มาเป็นวันนี้
คนอื่น ไม่ใช่ทายาทใน “มรดกตกทอด” พรรคประชาธิปัตย์ ท่านชวนคนเดียวคือทายาท ตอนนี้ เป็นภาระท่านแล้วหละว่า
ขั้นแแรก ทำอย่างไรจึงจะนำ ๑๑ ล้านเสียงกลับมา?
เห็นคุณ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” พูดเป็นข่าว….
“ผมได้ปรึกษากับนายชวนว่า ในส่วนคนเก่า ที่เคยมีอุดมการณ์ร่วมกับประชาธิปัตย์ ปัจจุบันไม่ได้มีตำแหน่ง หรือเป็นสมาชิกพรรค
สามารถจะมีช่องทางเข้าไปฟื้นฟูพรรคได้หรือไม่ ซึ่งนายชวนบอกว่า
“หมดหนทางแล้ว ผู้บริหารชุดนี้ มีอำนาจเด็ดขาด ไม่ยอมให้คนเก่าเข้าไปแน่”
และนายนิพิฏฐ์ถามว่า
“มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่เราเองจะมาตั้งพรรคใหม่ และแสดงเจตนารมณ์อุดมการณ์ว่า เราคือพรรคประชาธิปัตย์ที่แท้จริงได้ไหม?”
นายชวนก็ได้ตอบกลับว่า
“วันนี้มีความชอบธรรมที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่แล้ว“
ที่ว่า “หมดหนทาง” แล้ว ก่อนหนานี้ ที่นายอภิสิทธิมาเป็น นายจุรินทร์มาเป็น จนถึงนายเฉลิมชัยมาเป็น
ทำไมจึงมีหนทาง และผู้บริหารชุดก่อนๆ ทำไมไม่มีอำนาจเด็ดขาด ทำไมเพิ่งมีตอนนายเฉลิมชัยเป็นหัวหน้านี่ล่ะ?
เป็นตรรกะที่ขัดแย่งกันอยู่ในตัวนะ ยิ่งที่นายนิพิฏฐ์บอก ท่านชวนบอก “วันนี้มีความชอบธรรมที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่แล้ว“
ไม่แน่ใจว่าทานชวนมีความคิดเช่นนี้ ถ้าใช่…ผมว่า “แค่คิดก็ผิดซ้ำซาก” แล้ว!
ปัญหาเกิดตรงไหน ต้องแก้ตรงนั้น การหนีปัญหาที่หนึ่ง ไปอีกที่หนึ่ง ถ้าเกิดปัญหาอีก ก็จะหนีออกไปอีกที่หนึ่ง
แบบนี้ ก็ต้อง “หนีทั้งชาติ”
เคยเห็นใคร “กู้ชาติ-กู้พรรค” ด้วยการหนีบ้าง?
ผู้บริหารที่มีประสบการณ์และมีความรับผิดชอบ เขาจะไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาด
เว้นแต่ “แก้ปัญหา” ให้ที่นั้นเสร็จ จากนั้น จะไปไหนก็ไปได้อย่าง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีกิน มีใช้ ไปด้วยกันค่ะ!
แต่ยังไงผมก็เชื่อว่าท่านชวน “มีแผนกู้พรรค” อยู่แล้ว
ถ้าใช้ “ประสบการณ์” นำหน้า “หลักการ”
เปลว สีเงิน
๒ กันยายน ๒๕๖๗