31 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการลงนามบนทึกขอตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระหว่าง 3 กระทรวง ประกอบด้วยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว. อว. พร้อมผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 3 กระทรวงเข้าร่วม ที่สวนมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย
โดยการ MOU ครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายที่นายอนุทิน ได้มอบให้แก่หน่วยงานภายใต้กำกับ ให้ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดโดยเริ่มต้นจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานเป็นลำดับแรก ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการลงนาม MOU ในครั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้จัดโครงการนำร่อง “มหาดไทยสีขาว สร้างพื้นที่ปลอดภัย หยุดยั้งยาเสพติด Safe zone no drugs” โดยตรวจปัสสาวะคัดกรองสารเสพติดในบุคลากรมหาดไทยเตรียมกำลังคนให้พร้อมสำหรับสนับสนุนการการตรวจสารเสพติดในบุคลากรตามโครงการภายใต้ MOU ซึ่งปรากฎว่าในช่วงดำเนินโครงการนำร่องที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 67 เป็นต้นมาบุคลากรสังกัดกระทรวงมหาดไทยทุกระดับในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ อส. ตลอดจนกำนันผู้ใหญ่ได้ได้สมัครใจเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โปร่งใสในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้นำชุมชน
นายอนุทิน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายสำคัญและเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ซึ่งการจัดทำ MOU ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการยกระดับความร่วมมือของทั้ง 3 กระทรวง เพื่อร่วมกันช่วยคัดกรองหาผู้เสพ ผู้ติด เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา แสดงถึงความเข้มงวดของหน่วยงานเพื่อป้องกันเป้าหมายทุกกลุ่มไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่สามารถรอช้าได้ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ และเป็นกลุ่มที่ยังสามารถได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีได้
“รัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และผมได้ให้นโยบายภายใต้การกำกับของผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีว่าจะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ซึ่งควบคู่กับการปราบปรามทางกฎหมาย ต้องใช้ทั้งมาตรการป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อการลดจำนวนผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด (Demand)โดยเฉพาะผู้เสพหน้าใหม่ (New Face) ซึ่งเป็นเด็ก เยาวชนในระบบการศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกับสถานศึกษา โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ซึ่งการ MOU ในครั้งนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือเพื่อดำเนินการอย่างจริงจังและเข้มข้นขึ้น” นายอนุทิน กล่าว
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดประสงค์หลักภายใต้ MOU คือ สร้างการมีส่วนร่วม ตระหนักถึงโทษของยาเสพติด และยินยอมเข้าร่วมกิจกรรมการป้องกันยาเสพติดของบุคลากร 3 กระทรวง รวมถึงเด็กและเยาชนในสถานศึกษาด้วยความสมัครใจโดยปราศจากการบังคับ ดำเนินการโดยเน้นย้ำในเรื่องของการไม่ให้กระทบสิทธิ์ส่วนบุคคล โดยเฉพาะสิทธิ์เด็กและเยาวชน และมีระบบการจัดเก็บข้อมูล การรายงานผล การบำบัดรักษาอย่างเป็นความลับ
นอกจากนี้ จะผลักดันให้โรงเรียน สถานศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และ อว. จัดให้มีระบบการเฝ้าระวัง สอดส่อง สังเกตตรวจตราการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกรูปแบบ รวมถึงหากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องจัดให้มีระบบการคัดกรอง และประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต และบำบัด ฟื้นฟูตามความเหมาะสม รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้บริเวณรอบ สถานศึกษา เป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติด และอบายมุขอย่างเป็นรูปธรรม หากมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการทาง กฎหมายกับบุคคล หรือสถานประกอบการที่เป็นแหล่งอบายมุข ให้บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ หน้าที่ตามกฎหมายต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กรมการปกครองได้รายงานผลการปราบปราม และบำบัดรักษาผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตามนโยบายของ รมว.มหาดไทย ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศภายใต้ “บัญชี Re X-ray” พร้อมกับเข้าดำเนินการตามกฎหมาย ข้อมูล ณ 12 พ.ค. 67 พบว่ามีผู้ค้ายาเสพติด 9,103 คน ดำเนินการจับกุมได้แล้ว 4,779 คน คิดเป็นร้อยละ 52.50 2) ผู้เสพ จำนวน 56,863 คน นำเข้าสู่การบำบัดและฟื้นฟูตามกฎหมายแล้ว 36,204 คน คิดเป็นร้อยละ 63.67% และ 3) ผู้ป่วยจิตเวช อันเนื่องมาจากยาเสพติดพบ 17,897 คน นำเข้าสู่การรักษา 16,636 คน คิดเป็นร้อยละ 76.19